ท่าทีของ “ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)” ที่เปลี่ยนไปต่อนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่อาจจะไม่ได้เร็วอย่างที่ตลาดคาดกันไว้ จากก่อนสิ้นปี18 ยังมองกันว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปี19 ประมาณ 3 ครั้ง แต่เพียงชั่วข้ามปีตลาดมองกันว่าอาจจะไม่มีการปรับขึ้นในปีนี้ และที่มองว่าจะปรับขึ้นก็ลดลงเหลือเพียง 1 ครั้ง เท่านั้น เล่นเอาทิศทางค่าเงิน ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นทั่วโลกไปด้วยเช่นกัน รวมทั้ง ‘ค่าเงินบาท’ ของไทยเอง
“นั่นเป็นสัญญาณในการจัดสรรเงินลงทุนใหม่ของโลก ที่เริ่มเห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดเอเชียรวมทั้งหุ้นไทยเองมากขึ้นในปีนี้ ต่างจากปี18 ที่เม็ดเงินไหลกลับสหรัฐ”ในช่วงที่ ‘ค่าเงินบาท’ มีแนวโน้มแข็งค่าเช่นนี้ ในมุมของการลงทุนแล้วก็เป็นโอกาสในการกระจายเงินลงทุนบางส่วนออกไปลงทุนใน 'ต่างประเทศ’ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้นสำหรับนักลงทุนบุคคลทั่วไปผ่าน “กองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF)” นั่นเอง
นี่คือโอกาสการลงทุนที่เพิ่งเปิดขึ้นเมื่อปี2002 ที่ผ่านมาเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมานี้เอง จากช่วงเริ่มต้นที่มี ‘กอง FIF’ เพียง 5 กอง จาก 5 บลจ.มีสินทรัพย์สุทธิรวมกันเพียง 1,685.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นเม็ดเงินกว่า 1.06 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี18 โดยมีกองทุน FIF มากถึง 668 กอง จาก 18 บลจ. ด้วยกัน
“คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ของกองทุน FIF ในช่วง 16 ปี ที่ผ่านมาอยู่ที่ 49.56% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน”
ในขณะที่ ‘ค่าเงินบาท’ แข็งค่านั้น ด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาค “การส่งออก” ในภาพรวม แต่ในอีกด้านของเหรียญในเรื่องของ “การลงทุน” นั้น การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ก็เป็นโอกาสกระจายไปลงทุนในต่างประเทศด้วยเช่นกัน เพราะเหมือนเราไปซื้อของถูกในต่างประเทศนั่นเอง เมื่อก่อนเราใช้เงิน 36 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์ พอค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เราใช้เงิน 32 บาท เท่าเดิม แลกได้ 1.13 ดอลลาร์ แล้ว เรียกว่าเงินเท่าเดิม ซื้อของได้มากขึ้น“ทั้งนี้ จะพบว่า กองทุน FIF นั้น มีการเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าค่าเงินบาทจะ ‘แข็งค่าขึ้น’ หรือ ‘อ่อนค่าลง’ ในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม นั่นสะท้อนให้เห็นว่า การออกไปต่างประเทศในมิติของการลงทุนนั้น จะมองเรื่องของ ‘การกระจายความเสี่ยง’ และ ‘การเพิ่มโอกาส’ ในการได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าจะปล่อยการลงทุนทั้งหมดไว้ในประเทศเพียงอย่างเดียวเป็นสำคัญ”
เราคงเคยได้ยินว่าต่างชาติขนเงินมาลงทุนไทยเพราะมองว่า ‘ค่าเงินบาท’ จะแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้กำไรถึง 2 ต่อ ทั้ง 1) ‘กำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์’ (ถ้ามองถูก) และ 2) ‘กำไรค่าเงิน’ (ถ้าบาทแข็งจริงตามที่มอง)
เช่นกันเวลานักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ จึงควรมองเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์เป็นอันดับแรก และหากอยากได้กำไรค่าเงินด้วยก็ต้องไปเลือกลงในประเทศที่เงินของเขาจะแข็งค่าขึ้นในอนาคตเช่นกัน เวลาขนเงินกลับเราก็จะได้กำไรค่าเงินได้เช่นกัน สมมติ เราไปลงทุนสหรัฐ ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ ผ่านไปดอลลาร์แข็งขึ้นจนบาทไหลไปอยู่ที่ 40 บาท/ดอลลาร์ เวลาเราเอากำไรกลับไทยจะได้เงินบาทมากขึ้น เรียกว่า เราก็สามารถทำกำไร 2 เด้ง ได้เช่นกัน
“แต่อย่าได้คาดหวังเอาผลตอบแทนกับค่าเงินเลยจะดีกว่า เพราะไม่ง่ายและผิดทางขึ้นมาผลตอบแทนที่ทำได้จาการลงทุนก็อาจจะหายไปหมดได้เช่นกัน เพราะ ‘ค่าเงิน’ เป็นอะไรที่คาดการณ์ได้ยาก แม้แต่ ‘ธนาคารกลาง’ ประเทศต่างๆ ยังยากที่จะรับมือได้”
ในยุคหลังมานี้ พัฒนาของ ‘กองทุน FIF’ จึงมีบางกองที่มีนโยบายลงทุนเหมือนกัน แต่แบ่งประเภทเป็น 2 แบบ คือ ‘ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedged)’ กับ ‘ไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Unhedged)’ ไว้ให้ผู้ลงทุนเลือก สำหรับนักลงทุนที่อาจจะมีมุมมองในเรื่องของทิศทางของเงินของตัวเองให้ได้เลือกลงทุนกัน แต่ก็ต้องรับ ‘ความเสี่ยง’ ในเรื่องนี้ด้วยตัวเองเช่นกัน เพราะในบางครั้งลงทุนได้ผลตอบแทนมา 10% แต่ไปขาดทุนค่าเงิน 7% เหลือ 3% แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน โชคร้ายติดลบไปเลยก็มีให้เห็นมาแล้ว
แนวโน้มของ ‘ค่าเงินบาท’ ที่แข็ง เสมือนหนึ่งเป็นแต้มต่อให้กับผู้ลงทุนที่จะได้มีโอกาสกระจายไปลงทุนในต่างประเทศ เสมือนหนึ่งไปช้อปของถูกในต่างประเทศนั่นเอง ส่วนจะช้อปมีกำไรหรือไม่นั้น ขึ้นกับ ‘มุมมอง’ และ ‘สินทรัพย์’ ที่คุณเลือกไปลงทุนเป็นสำคัญ