เดินหน้าเปิดประมูลสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมแปลง อ่าวไทยรอบใหม่ เตรียมข้อมูลเสร็จ เดือน มิ.ย. เสนอรัฐบาลหน้าเคาะ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปเร่งดำเนินการศึกษาเตรียมความพร้อม เพื่อเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ สำหรับแปลงสำรวจในพื้นที่ อ่าวไทยด้วยระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ภายในเดือน มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ นายศิริ กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ กับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) และสัญญาแบ่งปันผลผลิตแหล่งบงกช กับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเบื้องต้นจะใช้แบบเดียวกับที่เปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช โดยกำหนดให้ ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอให้หน่วยงานรัฐเข้าถือหุ้นสัดส่วน 25% ซึ่งจะเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาได้ทันที
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ได้ลงนามสัญญาพีเอสซีสำหรับแปลงเอราวัณและบงกชกับผู้ชนะการประมูล ซึ่งเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจาก 2 แหล่งก๊าซได้ดำเนินการผลิตมาเกือบ 40 ปี ภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดในปี 2565-2566 ขณะที่ระบบพีเอสซีจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานต่อเนื่อง และก่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ 6.5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี
สำหรับวงเงิน 6.5 แสนล้านบาท จะมาจากผู้ชนะประมูลเสนอส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติลงมา โดยราคาคงที่ 116 บาท/ล้านบีทียู ทั้งสองสัญญา มีมูลค่ารวม 5.5 แสนล้านบาท ตลอด 10 ปี แยกเป็น
- การลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงมา 15-20 สตางค์/หน่วย (หลังปี 2565) จากเดิมราคา 3.60 บาท/หน่วย จะเหลือ 3.40 บาท/หน่วย หรือมูลค่า 2 แสนล้านบาท
- ลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับ ยานยนต์ (เอ็นจีวี) 0.50-1 บาท/กิโลกรัม รวมมูลค่า 1 แสนล้านบาท 3.ลดต้นทุนเชื้อเพลิงให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในการมีวัตถุดิบผลิตต่อเนื่อง มูลค่า 1 แสนล้านบาท 4.ลดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) คิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้รัฐยังได้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากที่เอกชนเสนอให้ผลตอบแทนสูงกว่ากำหนดอีก 1 แสนล้านบาท
ด้าน นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กล่าวว่า ได้เตรียมเงินลงทุนไว้ 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซ 1,500 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน จะใช้เงินลงทุนในแหล่งบงกช 3-4 แสนล้านบาท และแหล่งเอราวัณ 6-7 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันจะ ดึงพันธมิตรรายใหม่เข้าร่วมทุนหลัง ดำเนินการไปแล้ว 1 ปี ซึ่งอาจจะชวนเชฟรอน และมิตซุยออยล์เข้าร่วม