คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : 4 จตุรเทพแห่งความร่ำรวย พี่น้องตระกูล ‘เจียรวนนท์’

>>

ความร่ำรวยของพี่น้องตระกูล “เจียรวนนท์” จากการจัดอันดับความมั่งคั่งของนิตยสาร “ฟอร์บส์” หลายปีติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จขั้นเทพของธุรกิจครอบครัว ที่ไม่เคยแตกแถวเลย ตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ


“นิตยสารผู้จัดการ” เคยวิเคราะห์ถึงครอบครัวนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า "เจียรวนนท์" ไม่ได้เป็นเพียงตระกูลธุรกิจที่สะท้อนให้เห็นถึง ความสามารถในการบริหารที่ยอดเยี่ยม ความมีจิตใจที่เป็นสากล (
INTERNATIONAL-MINDED) ในการดำเนินธุรกิจ


ในส่วนลึกแล้ว พวกเขายังแสดงถึงความเป็นปึกแผ่น เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมประสาน พลังกาย พลังใจ และพลังความคิด ไปในแนวทางเดียวกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ความสามัคคีปรองดอง ที่ยากจะหาใครเหมือน โดยเฉพาะกับธุรกิจครอบครัวที่มีอาณาจักรยิ่งใหญ่อย่างเครือซีพี

 

แม้แต่ความร่ำรวย ทั้ง 4 ขุนพล
ตระกูล “เจีย” ก็ยังกอดคอกันมา แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

อาณาเขตธุรกิจเครือซีพี ขยายตัวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในยุคของทายาทรุ่นที่ 2 นำโดย “จรัญ เจียรวนนท์” พี่ชายคนโต และ “มนตรี เจียรวนนท์” พี่ชายคนรอง 


“หลังจากที่ท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรี เรียนจบจากเสฉวน ก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อช่วยกิจการของที่บ้าน ในปี พ.ศ. 2496 ท่านประธานจรัญได้เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ โดยท่านตั้งใจขยายกิจการออกไปเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก และตั้งชื่อบริษัทว่า เจริญโภคภัณฑ์
ธนินท์ น้องชายคนเล็ก เปิดใจกับนิตยสาร Nikkei Asian Review


ธนินท์กลับมาช่วยงานครอบครัว ในช่วงที่ร้านเมล็ดพันธุ์เจียไต๋ เติบโตกลายเป็นธุรกิจขนาดกลาง เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เกษตรกรว่า ร้านขายอาหารสัตว์เจริญโภคภัณฑ์ แถวเยาวราช


สมัยที่ธนินท์กลับมาเมืองไทย หลังจากไปศึกษาต่อที่จีนและฮ่องกงเสียหลายปี ช่วงนั้นประเทศจีนปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่รัฐบาลไทยเอง ก็ต่อต้านการปกครองแบบคอมมิวนิสต์สุดฤทธิ์ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงไม่สู้ดีนัก เพราะรัฐบาลไทยยุคนั้น เข้มงวดการอพยพของคนจีนเข้ามาในประเทศ และให้ลูกหลานคนจีนที่เกิดในประเทศไทย เปลี่ยนชื่อจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย

 
         จากชื่อ “กั๋วหมิน” ก็เลยเปลี่ยนมาเป็น “ธนินท์” น้องชายคนเล็ก (ปัจจุบันอายุ 80 ปี)
         จากชื่อ “เจิ้งหมิน ก็เปลี่ยนมาเป็น “จรัญ” พี่ชายคนโต (ปัจจุบันอายุ 89 ปี)
         จากชื่อ ต้าหมิน ก็เปลี่ยนมาเป็น “มนตรี” พี่ชายคนรอง (ปัจจุบันอายุ 88 ปี)
         จากชื่อ จงหมิน ก็เปลี่ยนมาเป็น “สุเมธ” พี่ชายคนที่ 3 (ปัจจุบันอายุ 85 ปี)

 จากซ้ายไปขวา : ธนินท์, จรัญ, มนตรี และสุเมธ
(รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

 

ส่วนนามสกุล ก็เปลี่ยนมาใช้ตามๆ กันว่า เจียรวนนท์ โดยสุเมธใช้เป็นคนแรก หลังเขากลับมาเมืองไทย โดยเปลี่ยนจาก Xie Zhongmin (เซี่ย จงหมิน) มาเป็น “สุเมธ เจียรวนนท์”


ธนินท์เข้ามามีบทบาทในธุรกิจเครือซีพีเต็มตัวในปี 2507 โดยรับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ดูแลธุรกิจอาหารสัตว์ แทนมนตรีที่หันไปทุ่มเททางด้านโรงงาน และงานค้าขายสินค้าเกษตร ขณะที่จรัญดูภาพรวมธุรกิจในฐานะประธานบริษัท


ใช้เวลา 5 ปี ธนินท์ก็ขึ้นไปนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในวัย 30 ปี เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจาก “กิจการครอบครัว” ไปสู่ “องค์กรธุรกิจ” ที่ดึงเอาความสามารถของคนนอกมาช่วยกันบริหาร และเปลี่ยนสถานภาพคนในที่เคยทำงาน ขยับออกไปด้านข้างกลายเป็นผู้ถือหุ้น


ธนินท์ตัดสินใจยกเลิกระบบบริหารงานแบบครอบครัว โดยบอกกล่าวกับบรรดาพี่สาวที่ทำงานในบริษัทว่า จะให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่าทนนั่งทำงาน จะได้มีเวลาพักผ่อน และมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และขอให้พี่สาวออกจากงานที่ซีพี


เรื่องลำบากใจของธนินท์คือ การขอร้องให้พี่สะใภ้คนโต หรือภรรยาท่านประธาน ยอมวางมือจากงานที่ทุ่มเทมาทั้งชีวิต โดยชี้ประเด็นว่า ไม่ว่าพี่สะใภ้จะอุทิศตนมากมายเพียงใด คนก็ไม่วายสงสัย เพราะเป็นภรรยาของประธานบริษัท ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันนี้ ทำให้คนในครอบครัวจำเป็นต้องวางมือจากงานบริหาร เพื่อเปิดทางให้หนุ่มสาวที่มีความสามารถเฉพาะด้านเข้ามาทำงานแทน


ธนินท์ตระหนักว่า “งานบริหาร” กับ “การถือหุ้น” ควรแยกออกจากกัน ผู้บริหารมีหน้าที่สร้างผลกำไรแก่บริษัทด้วยความรู้แบบมืออาชีพ ส่วนผู้ถือหุ้นก็ควรยินดีกับผลตอบแทนที่มาจากกำไร ไม่ควรให้ผู้ถือหุ้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหาร มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และอาจทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารลดลง

หลักการเดียวที่ธนินท์ใช้บริหารธุรกิจ จนสามารถนำพาครอบครัวและธุรกิจประสบความสำเร็จจนติดอันดับเศรษฐีของโลกคือ “การพัฒนาและคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง” จากรุ่นคุณพ่อที่สร้างกิจการเมล็ดพันธุ์ รุ่นพี่ๆ ก็ขยายกิจการมาสู่อาหารสัตว์


มาในยุคของเขาก็ต่อยอดจากเกษตรอุตสาหกรรมไปสู่ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน และกำลังเข้าสู่ธุรกิจบริการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ จากการประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน


ความมั่งคั่งของ 4 พี่น้อง “เจียรวนนท์” จากการจัดอันดับโลก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ง่ายนัก มันไม่สำคัญหรอกว่าซีพีรวยอันดับที่เท่าไหร่ของโลก แต่มันสำคัญตรงที่ว่าจะมีธุรกิจครอบครัวไหนที่ร่ำรวยแบบแพ็ค 4 ติดต่อกันได้หลายปีอย่างซีพี