“TRT” คาดความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้น ตั้งเป้ายอดแบ็กล็อคโต 20 %
>>
Highlight
- ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศ
- คาดความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้น จากกลุ่มภาครัฐกลับมาใช้งบปกติ เปิดประมูลหม้อแปลงไฟฟ้ารวมมูลค่ากว่า 9,750 ล้านบาท
- บริษัทหวังฟื้นกลับมาโกยกำไรได้อีกครั้ง ตั้งเป้างานในมือ (แบ็คล็อค) ปีนี้โตกว่า 20 %
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยถึงภาวะอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในประเทศว่า มีการปรับตัวลดลง เนื่องจาก นโยบายรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อจากเดิม เป็นระบบ E-Bidding ทำให้เกิดความล่าช้า และชะงักงันต่อการใช้งบประมาณในการจัดซื้อ ปี 2560-2561 ส่งผลให้ยอดรับคำสั่งซื้อของหม้อแปลงไฟฟ้าของภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ ลดลง จาก 1,625 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 931 ล้านบาท ในปี 2561 ในส่วนภาคส่งออก ปรับตัวดีขึ้นจาก 174 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 789 ล้านบาท ในปี 2561 เนื่องจากรับงาน project ใหญ่ ที่สิงค์โปร์ คิดเป็นร้อยละ 51% ของภาคส่งออก
ทั้งนี้ บริษัทมีมูลงานคงเหลือ ณ. 31/12/2561 ในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ที่ 1,039 ล้านบาท ซึ่งจะส่งมอบในปี 2562 จำนวน 788 ล้านบาท และ 251 ล้านบาท ในปี 2563 ในปี 2562 บริษัทมีการส่งมอบสินค้าที่มีกำไรขั้นต้นสูง โดยเฉพาะ ภาคส่งออก ทำให้ กำไรขั้นต้นของหม้อแปลงไฟฟ้า ปรับตัวจาก 16.77% ใน ปี 2560 มาเป็น 18.76% ในปี 2561
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ คาดการณ์ว่า ความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าในปี 2562 โดยรวม ยังคงปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการใช้งบประมาณของภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และภาคเอกชนมีความต้องการมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐทางด้าน Infrastructure และที่สำคัญ บริษัทฯ ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด คือหม้อแปลงไฟฟ้าชนิดพิเศษที่เรียกว่า Unit Substation เพื่อตอบสนองต่อนโยบายในการนำสายไฟฟ้าอากาศลงสู่ใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งอาเซียน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน และคำนึงถึงภูมิทัศน์ รักษาสภาพแวดล้อมให้สวยงาม
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กล่าวถึง รายได้ของกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลงไฟฟ้า (Non-Transformer Group) ว่า เนื่องจากในปี 2560-2561 ทางภาครัฐยังคงชะลอการประมูลสำหรับโครงการใหญ่ๆ ส่งผลให้ TRT E&S ได้รับงานลดลง ในปี 2561 จำนวน 61 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากการขายรถกระเช้า 23 ล้านบาท และรายได้จากการบริการ 38 ล้านบาท ทางบริษัทฯ คาดการณ์ว่า การประมูลน่าจะกลับมาสูภาวะปกติในปี 2562 โดยประมาณการมูลค่างานที่รอประมูลในปี 2562 อยู่ที่ 1,857 ล้านบาท ซึ่ง TRT E&S มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 15% -20% ประมาณการส่งมอบในปี 2562-2563
ในปี 2561 ภาพรวมของผลประกอบการของ กลุ่มธุรกิจ ถิรไทย ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น ต่อรายได้ขายและบริการ 21.90% เปรียบเทียบกับ 20.10% ในปี 2560 แต่เนื่องจาก LDS (บริษัทย่อย) มีรายได้เติบโตไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ประกอบกับ มีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เป็นผลให้ กลุ่มบริษัทถิรไทย มีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 30.76 ล้านบาท และ ณ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี Backlog แล้วกว่า 1,748 ล้านบาท ซึ่งจะส่งมอบในปี 2562 จำนวน 1,257 ล้านบาท และ ในปี 2563 จำนวน 491 ล้านบาท และมีมูลค่างานที่กำลังเสนอราคาและประมาณการของมูลค่าโครงการของภาครัฐ ณ สิ้นธันวาคม 2561 ประมาณ 13,031 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้คำสั่งซื้อประมาณ 20-25%
“ในปี 2562 บริษัทคาดว่า ภาวการณ์แข่งขันทางด้านราคายังคงอยู่ในระดับปานกลาง – สูง เพื่อลดความสี่ยงในเรื่องนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นตลาดที่ต้องการสินค้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมที่การแข่งขันไม่สูงมากนัก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไร และจะดำเนินการทุกมาตรการ ที่จะบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อที่จะรักษาอัตรากำไรเฉลี่ยขั้นต่ำ 20% เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และให้มั่นใจว่า บริษัท และบริษัทย่อยดำเนินตามแผนงานอย่างมีการควบคุมที่เหมาะสม” นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กล่าว