“หุ้นแดนมังกร”...กลับมาเจิดจ้าบน ‘แผนที่ลงทุนโลก’

>>

“ตลาดหุ้นจีน” กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง หลังจากที่ปี2019 ปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะตลาด ‘A-Share’ ที่ปรับขึ้นมาประมาณ 30% ในปีนี้ จากที่ติดลบ 30% ในปี2018 อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจในตลาดหุ้นจีนก็มาพร้อมกับความกังวลด้วยเช่นกัน หลังจากที่ “หลี่ เค่อเฉียง” นายกรัฐมนตรีจีนประกาศปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี19 ลงเหลือ 6.0-6.5% เท่านั้น

 

ย้อนอดีตยุค ‘ฟองสบู่ตลาดหุ้นจีน’ ปี2014-2015

ย้อนอดีตไปในปี2014 ตอนนั้น “ตลาดหุ้นจีน” ใช้เวลาเพียง 1 ปี ทะยานขึ้นเป็นมังกรผงาดฟ้าภายใน 1 ปี โดยเฉพาะตลาด ‘A-Share’ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงกว่า 150% ในระยะเวลาเพียง 1 ปี เท่านั้น กลายเป็นภาวะ ‘ฟองสบู่’ หลังนักลงทุนจีนใช้บัญชีมาร์จิ้นมาลงทุนในหุ้นเกินขนาด

จาก ‘จุดสูงสุด’ ในครั้งนั้น ‘คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน (CSRC)’ ก็ประกาศว่าจะใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับการซื้อขายโดยใช้มาร์จินของนักลงทุนรายย่อย ในวันถัดมาก็ยังสั่งห้ามการซื้อขายด้วยเงินทุนที่กู้ยืมนอกระบบการซื้อขายโดยใช้มาร์จิน และนั่นก็คือ จุดสิ้นสุด ของตลาดขาขึ้นในช่วงกลางปี2015 โดยตลาดปรับตัวลดลงกว่า 40% จากจุดสูงสุด เป็นภาวะ ‘ฟองสบู่แตก’ เพราะนักลงทุนที่ซื้อขายโดยใช้มาร์จิน ถูกบังคับให้ขายหุ้นในพอร์ตของตัวเองเพื่อเอาเงินสดมาชำระชดเชยราคาหุ้นที่ตกต่ำลงไปนั่นเอง

“จวบจนบัดนี้ ‘ตลาดหุ้นจีน’ ในภาพรวมก็ยังไม่ไปไหนได้ไกล นับจากจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ช่วงกลางปี2015 นั้น พร้อมกันนั้นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็ลดลงมาต่ำกว่า 7% ตั้งแต่ปี2015 เป็นต้นมาเช่นกัน”

 

มั่นใจเศรษฐกิจจีนแกร่ง- หุ้น ‘A-Share’ เด่นสุด

“ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัดมองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่ง แม้ทางการจีนจะออกมาปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี19 ลงเหลือ 6.0-6.5% ก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตตามทิศทางของรัฐบาลกำหนด บางมุมมองอาจจะประเมินไปในทางลบ แต่ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ3 ของโลก การเติบโตในระดับ 6.0% นี้ก็ถือว่า ไม่น้อยแล้ว หากเทียบกับสหรัฐหรือประเทศเกิดใหม่รวมทั้งไทยเองก็ตาม

ที่สำคัญทางการจีนมีเครื่องมือ (กระสุน) ในมือเยอะมากทั้ง นโยบายการเงิน หรือ นโยบายการคลัง ที่พร้อมจะนำมาใช้ได้ทันทีเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจจีนถดถอยจึงเป็นไปได้น้อยมาก ย้อนไปในอดีตมีการพูดถึง Hard Landing กันสุดท้ายก็ไม่เกิด นี่คือศักยภาพของจีน

“ส่วนปัญหาหนี้ของบริษัทเอกชนจีนนั้น มีมานานแล้ว โดยรัฐเองก็ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือและปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน บริษัทที่ไม่ดีมีหนี้มากที่ต้องปิดตัวไปก็มีมาเรื่อยๆ แต่ก็มีขนาดไม่ใหญ่มากและอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้ส่งผลถึงภาพเศรษฐกิจใหญ่ที่จะลุกลามขึ้นเป็นวิกฤติแต่ประการใด

ในเรื่องของ ความกังวล เรื่องโบรกเกอร์มีการปล่อยกู้มาร์จิ้นให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่นั้น ยังมั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะดูแลได้เหมือนที่เคยทำให้เห็นมาแล้วในอดีต ที่สำคัญปัจจุบันตลาดหุ้นจีน ถูกมาก ต่างจากในอดีตจึงไม่น่ากังวลแต่ประการใด รอแค่ว่าเศรษฐกิจจีนจะขึ้นมาเป็นอันดับ1 ของโลกเมื่อไรเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามแนะนำให้จัดสรรเงินลงมาลงทุนมากกว่าถ้าจะมองโอกาสในขาขึ้น (Upside) เปิดมากกว่า หวือหวามากกว่าก็ต้อง ‘A-Share’ แต่ถ้าต้องการแบบไม่หวือหวามากนักก็ต้อง ‘H-Share’ หรือถ้าจะกระจายไปทั่วโลกในทุกตลาดของจีนก็ ‘All China’ ผลตอบแทนน่าจะอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ตลาดนี้”

 
( นายจาตุรันต์ สอนไว และ ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล )
 

“จาตุรันต์ สอนไว” ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กรุงศรี จำกัด ยอมรับว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่โครงสร้างโศรษฐกิจจีนเองนั้นยังพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนเป็นหลัก ธนาคารกลางจีน (PBOC)’ ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านการลดอัตราส่วนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์สำรองต้องกันสำรอง (Reserve Requirement Ratio : RRR) ลง และยังมีศักยภาพในการใช้นโยบายการเงินมาดูแลเศรษฐกิจได้อีกมาก

ปีนี้หุ้นจีนขึ้นมา 20% ในช่วง 2 เดือน แม้จะดูว่าปรับตัวขึ้นมาระดับหนึ่งแล้วแต่ถ้าดูภาพรวมหุ้นจีนเองก็ยังถูกและน่าสนใจลงทุน โดยเฉพาะตลาด ‘A-Share’ ซึ่งปกติจะตอบรับกับการใช้นโยบายต่างๆ ของภาครัฐได้เร็วกว่าตลาดอื่นด้วย

“นอกจากนี้ตลาด ‘A-Share’ ยังมีความน่าสนใจมากขึ้น หลัง MSCI ประกาศจะเพิ่มน้ำหนักหุ้นขนาดกลางของจีนใน ‘ดัชนีหุ้นตลาดเกิดใหม่ (MSCI EM Index)ในเดือนพ.ย. นี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้นักลงทุนสถาบันทั่วโลกต้องจัดสรรเงินเข้ามาลงทุนในตลาด ‘A-Share’ เพิ่มขึ้นด้วย”

                                                                                                   

“หุ้นจีน”...ยังไม่แพง-กำไรกลุ่ม ‘New Economy’ ยังโตดี

Vivien Ng” Equity Specialist Global Emerging Markets and Asia Pacific Equities, Director, UBS Asset Management มองว่า ปีนี้ตลาดหุ้น ‘A-Share’ บวกมา 30% , ‘H-Share’ บวกมา 15% แต่หุ้นทั้ง 2 ตลาดก็ยังไม่แพง มีสัดส่วนราคาต่ำกำไรสุทธิ (P/E) เพียง 11.4 เท่า และ 11.3 เท่า ตามลำดับ

แม้ตลาดจากนี้ไปอาจไม่ได้ไปต่อแต่ราคาก็ถือว่าไม่แพงถูกกว่าตลาดอื่นมากกว่า 10% การลงทุนในจีนเรามองใน ระยะยาว เพราะยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอีกมาก แม้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม ‘Old Economy’ จะไม่สูงมากเฉลี่ยสะสม (CAGR) ช่วงปี2012-2017 อยู่ที่ 17% ต่อปี แต่ในกลุ่ม ‘New Economy’ กำไรยังเติบโตได้ดีเฉลี่ย 31% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน


 
( Vivien Ng )


“เศรษฐกิจจีนกำลังเปลี่ยนผ่านด้วยการยกระดับไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added Goods)’ แทนการผลิตสินค้าทั่วไปที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย ย้อนไปในปี1980 มีสัดส่วนของสินค้ากลุ่มนี้ 11% ของทั้งหมด  ในปี1990 เพิ่มเป็น 23% และในปี2015 เพิ่มขึ้นเป็น 52% แล้ว เรียกว่าเกินกว่า 50% ของสินค้าจีนในปัจจุบันเป็นสินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามแผน Made in China 2025

ที่สำคัญจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีการ ลงทุนวิจัยพัฒนา (R&D)’ สูงมากประเทศหนึ่งของโลกในปี2007 เงินลงทุน R&D 49 พันล้านดอลลาร์ มาในปี2017 เพิ่มเป็น 265 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นอันดับ2 รองจากสหรัฐ โดยจีนมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนด้าน R&D ต่อ GDP จากปัจจุบันที่ 2.2% ให้ขึ้นไปถึง 2.5% ต่อ GDP ด้วย ก็จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของจีนได้ในระยะยาวเช่นกัน

“เศรษฐกิจจีนแม้จะโตช้าลงแต่ก็ยังดูดีอยู่ รัฐบาลมีการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อพยุงการเติบทางเศรษฐกิจ มีการลดภาษี ผ่อนคลายกฎระเบียบมากขึ้นในปีนี้หลังจากที่ เข้มงวด ในปี18 ที่ผ่านมา รวมถึงการสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงหลักที่ต้องจับตายังคงเป็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นสำคัญ แต่ก็จะกระทบจำกัดกับบริษัทจีนที่เติบโตจากภายในประเทศ เพราะจีนเองกำลังเปลี่ยนโครงสร้างมาพึ่งพิงการบริโภคและบริการในประเทศมากขึ้น”

 

“หุ้นจีน”...หนึ่งใน Mega Trend ของโลก

คมสัน ผลานุสนธิ” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บลจ.แอสเซท พลัส จำกัด บอกว่า “หุ้นจีน” เป็นหนึ่งใน Mega Trend ของโลกที่ยังจะเติบโตไปได้อีกนาน ปัจจุบันเป็นตลาดที่นักลงทุน ไม่ได้คาดหวัง อะไรมาก ซึ่งมุมองแบบนี้มักเกิกกับตลาดหุ้นที่จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ พอคนสนใจอีกครั้งก็จะ Peak ไปแล้ว

แต่ถ้ามองดูศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนและแนวโน้มการเติบโตกำไรบริษัทจดทะเบียนของจีนในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทน คาดหวังเฉลี่ย 15% ต่อปี เป็นไปได้ (ณ 28 ก.พ. 19 ดัชนี MSCI China ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ 8.53% ต่อปี และ 11.09% ต่อปี ตามลำดับ) ในตลาด ‘A-Share’ ก็จะมากกว่านั้น ความเสี่ยงใน ขาลง (Downside)’ มีจำกัด ในขณะที่โอกาสในขาขึ้น (Upside)’ มีมาก แค่กลับไปจุดสูงสุดเดิมได้ก็มากแล้ว

“รัฐบาลจีนพร้อมจะเข้ามาดูแลทั้งเศรษฐกิจและตลาดการเงิน เพราะเขาจะไม่ปล่อยให้คนขาดความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลเด็ดขาด เราแนะนำให้เข้าลงทุนเพื่อหวังผลในระยะยาวเป็นสำคัญ”

“นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส” รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่า ปีนี้ตลาดเกิดใหม่เอเชียน่าสนใจลงทุนจากแนวโน้มดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะหนุนให้เงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่เอเชีย

ในเอเชียที่เราชอบนอกจาก หุ้นไทย แล้วก็คือ หุ้นจีน การที่รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อพยุงเศรฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งการปรับลด Required Reserve Ratio : RRR 1% และเพิ่งประกาศปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 2 ล้านล้านหยวน ก็เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญเช่นกัน

“หุ้นจีนราคายังถูก มี P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในยะยาว ประกอบกับรัฐมีมาตรการภาษีมาช่วยธุรกิจ ตรงนี้จะส่งผลบวกต่อกำไรของบริษัทในจีนทันที และเชื่อว่ารัฐบาลจีนเองยังมีมาตรการต่างๆ ออกมาอีกเรื่อยๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

“พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ จำกัด แนะนำว่า นักลงทุนควรมี “หุ้นจีน” ติดพอร์ต ซึ่งปัจจุบันกองทุนหุ้นจีนก็มีไปลงทุนในหลายตลาด ถ้าชอบหวือหวาหน่อยก็ต้องตลาด ‘A-Share’ หรือไม่หวือหวามากนักลงทุนต่างชาติชอบลงทุนกันก็ตลาด ‘H-Share’

หรือมองหาโอกาสลงทุนในหุ้นจีนทั่วโลกก็ต้อง ‘All China’ และปี19 นี้หุ้นจีนก็ยังน่าสนใจเพราะในปีที่แล้วตลาดติดลบ ปีนี้ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นบวกได้ การที่ MSCI เตรียมปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนในการคำนวณดัชนี MSCI EM Index จะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจีนอีกมากและเป็นเงินลงทุนที่เข้ามาลงทุนในระยะยาวด้วย

 
( นายพจน์ หะริณสุต, นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส, และ นายคมสัน ผลานุสนธิ )

 

“เศรษฐกิจจีน” เขาว่าใหญ่เกินกว่าที่จะเพิกเฉย ในขณะที่ “หุ้นจีน” เองก็น่าสนใจเกินกว่าจะละเลย’…จึงไม่น่าแปลกที่ “จีน” จะกลับสู่แผนที่การลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง “พญามังกร” เพียงเร้นกายแต่ก็ยังคงเป็นมังกร โลกจึงยากจะละสายตาไปได้ รอเพียงจะกลับมาทะยานผงาดฟ้าอีกครั้งเมื่อไรเท่านั้นเอง