“กองตราสารหนี้”...เริงร่า รับ 'สหรัฐ-ไทย' ไม่ขยับดอกเบี้ย

>> ปี2018 นักลงทุนทั่วโลกขวัญผวากับแนวโน้ม ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ของ ‘ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)’ จนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยลบในการลงทุนที่นักลงทุนทั่วโลกต้องจับตามองชนิดตาไม่กระพริบ ข้ามปีมากลายเป็นหนังคนละม้วน

ปี2018 นักลงทุนทั่วโลกขวัญผวากับแนวโน้ม ดอกเบี้ยขาขึ้น ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)’ จนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยลบในการลงทุนที่นักลงทุนทั่วโลกต้องจับตามองชนิดตาไม่กระพริบ ข้ามปีมากลายเป็นหนังคนละม้วน

เมื่อเศรษฐกิจปีหมู ไม่หมูอย่างที่คิด แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวระบาดไปทั่วโลก ลดแรงกดดัน ดอกเบี้ยขาขึ้น ในปีนี้ลงไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจากแนวโน้มในปี2018 เลยทีเดียว ในปี2019 นี้ ถ้าพี่ใหญ่อย่าง สหรัฐ ไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ย ไทย เอง ก็คงได้พักหายใจอยู่ตรงนี้ได้เช่นกัน

โอกาสขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ น้อย’…แต่ถ้าขึ้นตลาดจะ ผันผวน

“ศิระ คล่องวิชา” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.กรุงศรี จำกัด บอกว่า ในปี2018 ‘ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)’ ขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง มาอยู่ที่ 2.5% และเดิมคาดว่าในปี2019 จะขึ้นอีก 2 ครั้งหรือ 1 ครั้งในช่วงปลายปี แต่ล่าสุดจากการสำรวจของตลาดประมาณ 80% มองว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้และอาจชะลอการปรับลดงบดุลด้วย ในขณะที่ไทยเองปี2018 “ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT)’ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.75% และน่าจะชะลอการปรับขึ้นในปีนี้เช่นเดียวกัน


 
( นายศิระ คล่องวิชา )


“ปี19 นี้ มองว่า FED คงไม่ขึ้นดอกเบี้ยเยอะ หรือไม่ขึ้นเลย เพราะเหตุผลที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยมีน้อย ในไทยเองปี18 เศรษฐกิจโต 4.1% ฟื้นตัวดี กรอบเงินเฟ้อ 1-4% ปัจจุบันเงินเฟ้อก็ยังต่ำกว่า 1% แรงกกดันจากเงินเฟ้อไม่มี ปีนี้น่าจะขึ้นดอกเบี้ยยาก ที่ผ่านมาเสียงก็ไม่เป็นเอกฉันท์ด้วย ซึ่งตลาดรับรู้ปัจจัยดังกล่าวแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน คงต้องดูว่าทิศทางดอกเบี้ยที่ตลาดมองจะ ถูก หรือ ผิดถ้า FED ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อาจทำให้ตลาดผันผวนในระยะสั้นได้ และกระทบมาถึงตลาดไทยได้เช่นกัน”

 

ไร้ปัจจัยหนุน’…ไทยขยับขึ้นดอกเบี้ย

“วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารองค์กร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า FED เองได้หยุดการเพิ่มขนาดงบดุล (B/S) มานานแล้ว การปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีก่อนจะมากระทบเศรษฐกิจในปีนี้ สภาพคล่อง ที่หายไปจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด ในขณะที่ราคาสินทรัพย์ยังสูงอยู่ ในปีนี้คาดว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยหรือขึ้น 1 ครั้งถ้าจะขึ้น ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ น้อยลง ในปีนี้และผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ในปีนี้ก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติที่ สมเหตุสมผล มากขึ้นด้วย

แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากปลายปี18 โดยมีแนวโน้มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังไม่น่ากังวลเพราะสอดคล้องกับประมาณการณ์ เงินเฟ้อทั่วไป และ เงินเฟ้อพื้นฐาน ปี19 ที่ 1.1% และ 0.9% ตามลำดับ


 
( นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ )


“แรงกดดันจากเงินเฟ้อไม่มี มองว่าไทยเองก็ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ย ถ้า FED ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ไทยก็ไม่จำเป็นต้องขึ้น ถ้าจะขึ้นก็ขึ้น 1 ครั้ง ช่วงกลางปี ด้วยเหตุผลอื่น เป็นการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวจะได้มีเครื่องมือไว้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนั้นมากกว่า”

 

“กองตราสารหนี้”...ผลตอบแทนปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว

ในปี2019 นี้ ศิระ ยังมองว่า กลุ่ม กองตราสารตลาดเงิน และ กองตราสารหนี้ระยะสั้นจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยระยะสั้นที่ทยอยปรับตัวขึ้นหลังแบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 1 ครั้งในช่วงเดือนธ.ค.18 ที่ผ่านมา ในขณะที่ กองตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวก็มีแนวโน้มจะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มาก โดยปัจจัยที่สำคัญประกอบด้วย

-อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

-การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้มีทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการส่งออกตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และการชะลอตัวในระยะสั้นของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อรอความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

 


“ทำให้แนวโน้มนโยบายการเงินของไทยมีท่าที ผ่อนคลาย ลงและการจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นทำได้ยากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในระยะสั้นตลาดตราสารหนี้อาจมีความผันผวนได้บ้างตามความเคลื่อนไหวของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก”

ตอนนี้ตลาดเองได้ ‘เลือกข้าง’ แล้วว่า ทิศทางดอกเบี้ยของ “สหรัฐ-ไทย” จะทรงตัวไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะไร้ปัจจัยหนุนนั่นเอง ถ้าจะมีก็เพียง 1 ครั้ง และเป็นการขึ้นด้วยเหตุผลอื่น คือ Policy Space มากกว่า สำหรับแฟนพันธุ์แท้ ‘กองทุนตราสารหนี้’ ปีนี้ผลตอบแทนที่ได้ในภาพรวมก็คงจะดูดีกว่าปีที่แล้วด้วยเช่นกัน