“การบริหารความมั่งคั่ง”...และ ‘การวางแผนทางการเงิน’

>>

เชื่อไหมครับว่า มีคนจำนวนมากที่สับสนระหว่างคำว่า การบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)” และ การวางแผนทางการเงิน (Financial Planning)” กันพอสมควร โดยหลายคนถึงกับคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันเลยก็มี ทั้งที่จริงแล้ว การวางแผนทางการเงินถือเป็น ‘เครื่องมือที่จะนำพาบุคคลไปสู่กระบวนการในการบริหารความมั่งคั่งอีกทอดหนึ่ง

ในทางวิชาการ “การบริหารความมั่งคั่ง” เป็นเรื่องของกระบวนการ (Process) ในการ

  • สร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation)
  • การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection)
  • การสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation)
  • การถ่ายโอนความมั่งคั่ง (Wealth Distribution)

 

ในขณะที่ “การวางแผนทางการเงิน” เป็นการกำหนดแผนกลยุทธ์ และปฎิบัติตามแผนดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินด้านต่างๆ ที่บุคคลได้กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องตอบโจทย์ที่เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อม และความต้องการของแต่ละบุคคลในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกันไปได้

“โดยถือเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ แม้ว่าในขณะนั้น บุคคลดังกล่าวนั้นจะยังไม่มีความมั่งคั่งเลยก็ตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำแผนทางการเงินดังกล่าวไปปฎิบัติก็จะเป็นการเริ่มสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การบริหารความมั่งคั่งในลำดับต่อไป”

ทั้งนี้ “การวางแผนทางการเงิน” จะเริ่มต้นจากการวางแผนเพื่อการบริโภค (Consumption Planning) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนจัดการสินทรัพย์ หนี้สิน รายรับ รายจ่าย ตลอดจนเงินออมอันเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นคงทางการเงิน และถือเป็นหัวใจที่สำคัญของกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation)’ ให้เกิดขึ้นครับ

หลังจากนั้น จึงเข้าสู่เรื่องของการปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection)’ ทั้งนี้ก็เนื่องจากคนเราทุกคนย่อมต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับชีวิต และสินทรัพย์ของตนจนทำให้ต้องสูญเสียเงินก้อนโตได้

“ดังนั้น การวางแผนทางการเงินในส่วนของการวางแผนประกันภัย (Insurance Planning) และการแผนเกษียณอายุ (Retirement Planning) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องของการปกป้องความมั่งคั่งเพื่อให้มั่นใจได้ว่า บุคคลนั้นๆ จะสามารถดำรงชีวิตตลอดไปได้โดยไม่ขัดสน แม้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ทุพพลภาพ หรือแม้แต่เกษียณแล้วก็ตาม”

ส่วน ‘การวางแผนการลงทุน (Investment Planning)’ และ ‘การวางแผนภาษี (Tax Planning)’ จะเปรียบเสมือนกับคู่พระคู่นางในเรื่องของการสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation)’

“โดยการวางแผนการลงทุนจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนใช้ทรัพยากร หรือจัดสรร ‘เงินทุนส่วนเกิน (ที่ปลอดจากภาระผูกพันใดๆ)’ ของบุคคลนั้นๆ ไปสร้างดอกผลให้งอกเงยเพื่อยกระดับมาตรฐานในการดำรงชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่การวางแผนภาษีจะช่วยลดภาระทางภาษีของบุคคลดังกล่าวนั้นให้น้อยลง เพื่อจะได้มีเงินไปต่อยอดเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาวได้นั่นเอง”

ท้ายสุด ก็คือ เรื่องของ ‘การวางแผนมรดก (Estate Planning)’ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายโอนความมั่งคั่ง (Wealth Distribution)’ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มรดก หรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดนั้นจะถูกส่งต่อไปสู่ทายาทลูกหลานตามเจตนารมณ์ของบุคคลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่นำไปสู่ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงมรดกกันเมื่อบุคคลนั้นเสียชีวิตลงไปแล้ว

ในตอนต่อๆ ไป เราจะมาลงลึกในส่วนของ ‘การวางแผนการลงทุน’ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งของกระบวนการวางแผนทางการเงินเพื่อ ‘การสะสมความมั่งคั่ง’ กันครับ