ส.รับสร้างบ้านประเมินตลาดไตรมาส 2 ทรงตัว ผู้บริโภคกังวลศก.-การเมืองในประเทศ

>>

Hightlight

  • สมาคมไทยรับสร้างบ้าน รายงานภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศไตรมาสแรกปี 2562 มูลค่าตลาดยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
  • คาดว่าเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและประชาชน ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกล้าลงทุนเงินก้อนใหญ่
  • ส่วนตลาดไตรมาส 2 คาดการณ์ว่ากำลังซื้อผู้บริโภคมีแนวโน้มทรงตัว หรืออาจปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อการเมืองภายในประเทศและเศรษฐกิจในอนาคต
     
 
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินตลาด “บ้านสร้างเอง” มีมูลค่า 1.4-1.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านในนามบริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน น่าจะมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีนี้พบว่าผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านมีความหลากหลายกว่าเดิม ทั้งในแง่ของจำนวนผู้เล่นในตลาด ตำแหน่งทางการตลาด พื้นที่ให้บริการ ระดับราคาบ้าน และขีดความสามารถของธุรกิจ
 

โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคหรือต่างจังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่มีผู้ประกอบการขนาดเล็กรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเข้ามาแข่งขันมากที่สุด รองลงมาคือตลาดรับสร้างบ้านภาคเหนือ และภาคตะวันออก ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กรายใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะเน้นให้บริการรับสร้างบ้านในระดับราคา 1.5 ล้านบาท - ไม่เกิน 3 ล้านบาท และเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าอายุ 30-35 ปี อาชีพข้าราชการ และค้าขายหรือทำธุรกิจส่วนตัวเป็นหลัก
 

ในขณะที่ระดับราคาบ้าน 3-10 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดหลักที่สำคัญของธุรกิจรับสร้างบ้าน พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายเดิมยังครองส่วนแบ่งตลาดได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ 3-4 ราย ที่ใช้ระบบโครงสร้างคอนกรีตกึ่งสำเร็จรูป สามารถกวาดแชร์ส่วนแบ่งบ้านระดับราคา 3-10 ล้านบาทได้มากกว่า 70% ของตลาดรวมกลุ่มราคานี้ เนื่องจากสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จรวดเร็วกว่า และสามารถควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนได้ดีกว่า
 
 


แนวโน้มและทิศทางตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีแรก

 

สำหรับทิศทางตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 นี้ สมาคมฯ คาดการณ์ว่ากำลังซื้อผู้บริโภคมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อการเมืองภายในประเทศและเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงการปรับตัวของตลาด ภายหลังจากขยายตัวต่อเนื่องมากว่า 6 เดือน และการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ลดการแข่งขันทางการตลาดลง โดยหันมาเพิ่มความระมัดระวังการบริหารต้นทุนมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงและค่าขนส่งมีที่มีผลต่อราคาบ้าน จึงมีแนวโน้มว่าราคาบ้านในช่วงไตรมาส 2 นี้อาจปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย
 
 
การเข้ามาแข่งขันในตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไม่อาจปรับราคาบ้านได้ไม่ง่ายนัก เพราะรายใหม่ ๆ เกือบทุกรายจะเลือกใช้กลยุทธ์หั่นราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่ง เพื่อจะชิงแชร์และแข่งขันกับรายเดิม โดยเฉพาะการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ดังนั้นโอกาสและอำนาจต่อรองยังถือว่าผู้บริโภคมีความได้เปรียบในภาวะตลาดรับสร้างบ้านในปัจจุบัน 
 
 
อย่างไรก็ตามสมาคมฯ ประเมินว่าปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน 6 เดือนแรกปีนี้ น่าจะเติบโตได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเชื่อว่าจะมีแรงขับเคลื่อนจากนโยบายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งจะเริ่มผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เดินหน้าต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้น และเชื่อว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ดีตามมา โดยเฉพาะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า การยกระดับสินค้าเกษตร การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้แข็งแรงและแข่งขันได้ ภายใต้รูปแบบการค้าเสรีแบบไร้พรหมแดนในโลกยุคปัจจุบัน และการที่ประเทศไทยกลับสู่การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง มั่นใจว่าการถูกกีดกันทางการค้าและการเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศก็จะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งมั่นใจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น           
 



นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น หากเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาสแรกขยายและเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ สำหรับบรรยากาศการแข่งขันของผู้ประกอบการรายเดิม ๆ และกลุ่มผู้นำตลาดถือว่ามีการแข่งขันกันเป็นปกติหรือแข่งกันไม่รุนแรงมากนัก แต่สิ่งที่พบและน่าเป็นกังวลก็คือ มีผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งที่เปิดดำเนินธุรกิจได้ไม่นาน ซึ่งใช้วิธีโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างหนัก พร้อมกับสร้างแรงจูงใจด้วยการลดราคาบ้านลงต่ำมาก หรือเรียกได้ว่าเป็นการใช้การตลาดนำ
 
 

ปัญหาที่เกิดในตลาดรับสร้างบ้าน 

 
อย่างบางรายมีพฤติกรรมแอบอ้างชื่อเจ้าของแบรนด์รับสร้างบ้านหรือวัสดุชั้นนำ เพื่อจะให้มีความน่าเชื่อถือและจูงใจผู้บริโภค นอกจากนี้ปัญหาที่พบอีกประการคือ การนำเงินที่ได้รับล่วงหน้าจากลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างไปใช้หมุนเวียนหรือลงทุนในธุรกิจอื่นแล้วประสบปัญหาขาดทุน และเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้เงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจติดขัด ไม่มีเงินชำระค่าวัสดุให้ซัพพลายเออร์ บางรายใช้เล่ห์เหลี่ยมและหลอกลวงผู้บริโภค โดยการเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือกรรมการผู้มีอำนาจ แต่ยังคงเป็นผู้บริหารธุรกิจด้วยตัวเองเหมือนเดิม
 

สุดท้ายแล้วผู้บริโภคที่ใช้บริการเพราะหลงเชื่อคำหว่านล้อมและราคาที่จูงใจ ก็จะไม่ได้บ้านที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาสาเหตุสำคัญเกิดจากผู้ประกอบการประเภทนี้ ไม่มีความเชี่ยวชาญและขาดประสบการณ์ ทั้งในด้านการจัดการ การวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริง การบริหารและควบคุมคุณภาพการก่อสร้างบ้าน รวมถึงความไม่ซื่อตรงต่อลูกค้าและการประกอบอาชีพ และยังมีพวกมิจฉาชีพที่เข้ามาเปิดดำเนินการธุรกิจนี้ เพื่อหวังหลอกลวงผู้บริโภคและประชาชน ด้วยเพราะธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ ที่ใช้กำกับและควบคุมผู้ประกอบการโดยตรง    
 
 
“สมาคมฯ และสมาชิกเองก็มีความกังวลและไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายใด ๆ มารองรับให้สมาคมฯ เข้าไปช่วยจัดการกับผู้ประกอบการประเภทนี้ แต่ในอีกทางหนึ่งสมาคมฯ ก็หันมาส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ ๆ ที่เข้ามาเปิดดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยสมาคมฯ ร่วมกับกองส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดอบรมเพื่อให้ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจรับเหมาสร้างบ้านอย่างมืออาชีพ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ” นายสิทธิพรกล่าว