“การเงินเชิงพฤติกรรม”...กับการบริหารความมั่งคั่ง

>>

ความมั่งคั่ง เป็นเป้าหมายของใครหลายๆ คนที่ฝันไว้ก่อนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แต่บางคนก็ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งตามที่วาดฝันไว้ หรือบางคนก็สร้างความมั่งคั่งแบบครึ่งหลับครึ่งตื่น ศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้หลายๆ คนไปไม่ถึงฝั่งฝันก็คือ อคติ (Bias)’ ที่แอบซ่อนในตัวเรานั่นเอง


ในศาสตร์ “การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance)” มีอคติมากมายหลายสิบตัวที่จ้องครอบงำทำให้เราตัดสินใจลงทุนโดยไร้เหตุผล เช่น เราเห็นคนอื่นขายหุ้นแบบหนีตายเมื่อช่วงสิ้นปี 2018 เราก็ขายทิ้งตามเขาบ้าง บ่อยครั้งที่มีบางเหตุการณ์ทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกและพร้อมใจกันเทขายหุ้นออกมาแบบไม่ได้นัดหมาย ทั้งๆที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วข้ามคืน


การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์ทาง เทคนิค ที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กันอาจไม่สามารถใช้อธิบายการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้ ถ้าเราไม่เข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาด ด้วยสาเหตุนี้การเงินเชิงพฤติกรรมจึงเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างความมั่งคั่ง เราลองมาดูกันว่าแนวคิดของการเงินเชิงพฤติกรรมมีความเป็นมาอย่างไร


“การเงินเชิงพฤติกรรม”
เป็นศาสตร์ที่รวมทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเงินเข้ากับทฤษฎีทางจิตวิทยา การเงินเชิงพฤติกรรมเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายและยอมรับมากขึ้นในแวดวงวิชาการเมื่อ แดเนียล คอนนิแมน (Daniel Kahneman)’ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002 โดยเขาได้ทำการวิจัยร่วมกับ แอมอส ทเวิร์สกี (Amos Tversky)’ และได้เสนอทฤษฎีความคาดหวัง (Prospect Theory)’ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้จากการสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงของมนุษย์ในการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอน โดยมีการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ร่วมวิจัยตอบแล้วนำผลของการวิจัยมาพัฒนาเป็นทฤษฎี เราลองมาตอบคำถามด้านล่างแล้วดูว่าผลการตัดสินใจของเราจะสอดคล้องกับทฤษฎีความคาดหวังหรือไม่
“นอกจากนี้แล้วค่าความคาดหวังของการได้รับเงิน (Expected Gain) จากทางเลือก ข มีค่าเพียง 250 USD (=0.25 x 1,000 USD + 0.75 x 0 USD) ซึ่งมีค่ามากกว่าการได้รับเงิน 240 USD จากทางเลือก ก เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะได้รับเงิน 240 USD โดยปราศจากความเสี่ยง มากกว่าที่จะเลือกทางเลือก ข ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 75% ที่จะไม่ได้รับเงินเลย”


“แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่กลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) ดังนั้นคนเหล่านี้จึงยอมที่จะเสี่ยงในทางเลือก ง เพราะเขามีโอกาสที่จะไม่ต้องสูญเสียเงิน 750 USD เลย ถึงแม้ว่าโอกาสนั้นจะมีเพียงแค่ 25% แต่ถ้าเขาเลือกทางเลือก ค เขาจะต้องสูญเสียเงิน 750 USD อย่างแน่นอน”


ตามแนวคิดของ “ทฤษฎีอรรถประโยชน์” ของศาสตร์ด้านการเงินแบบดั้งเดิมกล่าวว่า ณ เวลาหนึ่งๆ คนควรจะมีทัศนคติต่อความเสี่ยง (Risk Attitude) ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่ตัดสินใจ ถ้าคนส่วนใหญ่เลือกทางเลือก ก สำหรับเหตุการณ์ที่ 1 ซึ่งแสดงว่าคนเหล่านี้มีพฤติกรรมของการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ดังนั้นคนเหล่านี้ก็ควรที่จะมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในเหตุการณ์ที่ 2 โดยเลือกทางเลือก ค แต่จากผลของการวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่เลือกทางเลือก ง ในเหตุการณ์ที่ 2 ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมของการชอบความเสี่ยง


“จากผลของการวิจัยข้างต้นจะเห็นได้ว่าทฤษฎีอรรถประโยชน์ไม่สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนเพราะคนมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อความเสี่ยง โดยคนส่วนใหญ่จะ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงถ้าเป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการได้มา แต่ในทางกลับกัน คนส่วนใหญ่จะ ชอบความเสี่ยงถ้าเป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย (หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้าได้ก็ขอเอาชัวร์ไว้ก่อน แต่ถ้าเสียก็ขอไปเสี่ยงตายเอาดาบหน้า)”


รูปภาพที่
1 แสดง “ทฤษฎีความคาดหวัง” โดยแสดงคุณค่า (Value) ของการได้มา (Gain) และการสูญเสีย (Loss) คุณค่าของการได้มาจะมีลักษณะโค้งเว้าออกจากจุดกำเนิด (Concave) ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมของคนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Aversion)  ส่วนคุณค่าของการสูญเสียจะมีลักษณะโค้งเว้าเข้าหาจุดกำเนิด (Convex) ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมของคนที่ชอบความเสี่ยง (Risk Seeking)นอกจากนี้แล้วพฤติกรรมที่กลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) ของคนยังถูกแสดงไว้ในรูปภาพที่ 1 ดังจะเห็นได้จาก เส้นคุณค่าของการสูญเสีย (Value of Loss) จะมีความชันมากกว่าเส้นคุณค่าของการได้มา (Value of Gain) นั่นคือ ถึงแม้ว่าเงินที่ได้มาและเงินที่สูญเสียไปจะมีมูลค่าเท่ากัน แต่การสูญเสียเงินย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของมนุษย์มากกว่าการได้เงินมา


เมื่อลองย้อนกลับไปดูผลของการตัดสินใจใน 2 เหตุการณ์ของคำถามข้างต้น คนส่วนใหญ่ (73%) เลือกทางเลือก ก และ ง ดังนั้นคนเหล่านี้จะมีโอกาส 25% ที่จะได้รับเงิน 240 USD และ 75% ที่จะสูญเสียเงิน 760 USD


เราอาจสงสัยว่าทางเลือก ก และ ง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่ ถ้าสมมุติว่าเราเลือกทางเลือก ข และ ค เราจะมีโอกาส 25% ที่จะได้รับเงิน 250 USD และ 75% ที่จะสูญเสียเงิน 750 USD


“เราจะเห็นได้ว่าทางเลือก ข และ ค ให้ผลของการตัดสินใจที่ดีกว่าทางเลือก ก และ ง แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่เลือกทางเลือก ข และ ค จากผลการวิจัยพบว่า มีคนเพียง 3% เท่านั้นที่เลือกทางเลือก ข และ ค การเงินเชิงพฤติกรรมอธิบายว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ได้มองว่าการตัดสินในทั้ง 2 เหตุการณ์เป็น การตัดสินใจร่วมที่ผนวกอยู่ในคำถามเดียวกัน แต่คนจะแยกการตัดสินใจ ออกเป็นทีละเหตุการณ์ย่อยๆ ซึ่งทำให้พลาดโอกาสที่จะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด”


เมื่อนำแนวคิดนี้มาประยุกต์กับการสร้างพอร์ตการลงทุน ก็หมายความว่านักลงทุนต้องนำพอร์ตจากบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างๆ ของตนเองมาพิจารณาในภาพรวม เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาทีละพอร์ต เพราะบางครั้งแต่ละพอร์ตให้ผลตอบแทนที่พึงพอใจ แต่พอเอาทุกพอร์ตมามองรวมกันก็พบว่าสัดส่วนลงทุนในหุ้นมากเกินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เข้าทำนองที่ว่าบางคนมองแต่ตาก็หวาน มองแต่จมูกก็โด่ง มองแต่ปากก็สวยเหมือนกระจับ แต่พอมองรวมๆ ทั้งใบหน้ากลับดูไม่จืด!


บทความนี้น่าจะทำให้เราคุ้นเคยกับแนวคิดเรื่อง “การเงินเชิงพฤติกรรม” พอสังเขป ในบทความต่อๆ ไป เราจะมาลองนำแนวคิดต่างๆ ด้านการเงินเชิงพฤติกรรมมาใช้ใน
การบริหารความมั่งคั่งของเรา