คิดจะลงทุน “ตราสารหนี้”...คิดถึง ‘กองทุนรวม’

>>

เรามีเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ 13.78 ล้านล้านบาท กว่า 57.84% อยู่ในเงินฝาก ออมทรัพย์ ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี


เงินฝาก...อยู่ในฝั่ง หนี้สิน ในงบดุลของแบงก์ ผู้ฝากเงินก็เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้แบงก์ โดยแบงก์ก็จ่าย ‘ดอกเบี้ย’ กลับคืนเป็นผลตอบแทนให้ผู้ฝากเงินนั่นเอง


ด้วยแนวคิดนี้...ถ้าคุณสามารถปล่อยกู้มีฐานะเป็น เจ้าหนี้ ให้กับผู้ต้องการเงินทุนไปใช้ แล้วได้ผลตอบแทนกลับคืนในรูปของ ดอกเบี้ย ที่สูงกว่า ดอกเบี้ยเงินฝาก ก็คงจะดีมิใช่น้อย จริงหรือเปล่า?


การลงทุนใน “ตราสารหนี้” สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ให้คุณได้เป็นอย่างดี แล้วเราจะไปลงทุนใน
ตราสารหนี้ ได้อย่างไรล่ะ?

“ตลาดตราสารหนี้”...นักลงทุนทั่วไปเข้าถึงยาก


มีคำกล่าวว่า... “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น นายทุนเล่นที่ (อสังหาริมทรัพย์)” แล้วใครล่ะที่เล่น... “ตราสารหนี้” มันหายไปไหนจากวลีสุดฮิตที่พูดติดปากในกลุ่มนักลงทุนไทย นี่สะท้อนให้เห็นว่า...การลงทุนใน ‘ตราสารหนี้’ แม้แต่ในวงนักลงทุนเองยังไม่ค่อยจะคุ้นเคยกันเลย นับประสาอะไรกับผู้มีเงินฝากและนักลงทุนทั่วไปเล่า
วิสัชนา...ก่อนจะว่ากันต่อไป “คนมั่งมี...เล่นตราสารหนี้” ไง


ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะลงทุน ‘ตราสารหนี้’ ที่ไหน อย่างไร ก็ไม่แปลก


คุณฝากแบงก์ เดินไปแบงก์ทำธุรกรรมได้ คุณเล่นหุ้น...เปิดพอร์ตหุ้น เล่นหุ้นได้ คุณลงทุนทองคำ...ไปร้านทองก็ลงทุนได้ แต่คุณจะลงทุนตราสารหนี้โดยตรง ไปที่ไหนดีล่ะ? แค่จะเริ่มต้นก็ไม่ง่ายแล้ว (แนะนำให้ไปลงทุนผ่านกองทุนรวมง่ายที่สุดแล้วสำหรับนักลงทุนทั่วไป)


ทำไมถึงไม่ง่าย...
?

“ตลาดตราสารหนี้” ทั่วโลกส่วนใหญ่เลยไม่ว่าสหรัฐ ญี่ปุ่น รวมทั้งไทยเป็นการซื้อขายแบบ ‘Over the Counter : OTC’  ซึ่งการซื้อขายแบบ OTC จะมีผู้เล่นสําคัญคือ ‘Dealer’ ซึ่งทําหน้าที่เป็น ‘ผู้สร้างตลาด (Market Maker)’ ในไทยเรียกผู้เล่นกลุ่มนี้ว่า ‘ผู้ค้าตราสารหนี้’ หรือ ‘ผู้ค้าหลักทรัพย์’ Dealer จะซื้อหลักทรัพย์ หรือตราสารหนี้เก็บไว้เพื่อขายทํากําไรจากส่วนต่าง ซึ่งปกติก็จะเป็น ‘แบงก์’ และ ‘โบรกเกอร์’ ต่างๆ (สามารถดูข้อมูลได้ที่ www.thaibma.or.th) ผู้สนใจจะลงทุนก็ต้องไปติดต่อกับตัวแทนผู้ค้าตราสารหนี้เหล่านี้นั่นเอง

 
“นักลงทุนรายใหญ่ (HNW)”…ก็ใช่ว่าจะลงทุนได้ดั่งใจ


การลงทุนใน ตราสารหนี้ สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่สามารถจะสัมผัสได้นั้น ก็จะเป็น พันธบัตรออมทรัพย์ ที่ปกติจะเปิดให้นักลงทุนทั่วไปสามารถจองซื้อได้ ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท เท่านั้นเอง แต่ ตราสารหนี้ภาครัฐ ประเภทอื่นจะมีการซื้อขายด้วย วิธีประมูล กัน นักลงทุนทั่วไปก็หมดสิทธิ์เช่นกัน


หันมา หุ้นกู้ ของเอกชนที่มีการขายให้ผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering :PO) ก็มีอยู่เรื่อยๆ สนใจติดต่อแบงก์หรือโบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนขายหุ้นกู้นั้นๆ ได้ เงินลงทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการขายในวงจำกัด (Private Placement : PP) ให้นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ซึ่งนักลงทุนทั่วไปก็คงเข้าไม่ถึงเช่นกัน


“อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (
ThaiBMA) ยอมรับว่า หุ้นกู้ที่มีประกาศขายกันนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ก็จองซื้อไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการซื้อขายตราสารหนี้เอง เวลาที่ ผู้ออกจะออกตราสารหนี้ก็จะมีการสำรวจความต้องการไปยังกลุ่มนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักลงทุนสถาบันต่างๆ ดูว่า ตราสารหนี้ผลตอบแทนเท่านี้ มีความต้องการมั้ย มากน้อยแค่ไหน เรียกว่า...การสำรวจก็เหมือนการขายไปในตัวแล้วนั่นเอง เมื่อเวลาออกขายจริง จึงมีนักลงทุนที่ไม่สามารถลงทุนได้ดังกล่าว

 
( อริยา ติรณะประกิจ )

“จะเห็นว่าการขายหุ้นกู้นั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของ นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors : II)’ และ นักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth : HNW)’ เป็นหลัก ที่ขายให้บุคคลทั่วไปแบบ PO นั้นมีไม่มากนักและที่มีบางครั้งนักลงทุนก็ยังหาซื้อไม่ได้ด้วยเนื่องจากของหมดตั้งแต่การสำรวจความต้องการซื้อแล้ว”


แนะนำว่าทางเลือกที่ง่ายกว่า คือ ลงทุนผ่าน “กองทุนตราสารหนี้”
ซึ่งในต่างประเทศก็ลงทุนผ่านกองทุนเช่นกัน กองทุน จะเป็นคนที่เข้ามาซื้อ ตราสารหนี้ แทน ปัจจุบัน ‘ตราสารหนี้’ ที่กลุ่มกองทุนลงทุนนั้นจะเป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิต (Rating) ตั้งแต่ A+ ขึ้นไปประมาณ 80% แล้ว เรทติ้ง A- ลงมากองทุนก็ไม่ค่อยซื้อแล้ว ทางสมาคมฯ เองก็อยากให้กลุ่ม ‘กองทุนรวม’ มีการกระจายการลงทุนมายังตราสารหนี้ที่อาจจะมีอันดับเครดิตต่ำกว่า A- ลงมามากกว่านี้ด้วยเช่นกัน

 

“กองทุนตราสารหนี้”...ทางเลือกที่ตอบโจทย์


จะเห็นว่าแม้จะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีเงินก็ยังลงทุนใน ตราสารหนี้ ได้ยาก นับประสาอะไรกับนักลงทุนบุคคลทั่วไปที่จะเข้าถึงได้ แต่เราก็ยังโชคดีที่มีเครื่องมือการลงทุนอย่าง “กองทุนรวม” ที่สามารถเปิดประตูการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ต่างๆ ได้รวมทั้ง ‘ตราสารหนี้’ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ในประเทศ หรือ ต่างประเทศ จะเป็น ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น ด้วยเงินลงทุน หลักร้อยบาท ก็ลงทุนกันได้แล้ว


“กองทุนตราสารหนี้”
จะนำเงินไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ด้วยเม็ดเงินที่มากกว่า (เพราะระดมทุนมาจากนักลงทุนในวงกว้าง) ก็ช่วยให้กองทุนสามารถ กระจายการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความหลากหลายมากกว่าด้วยไม่ต่ำกว่า 10 ตราสารหนี้ในแต่ละกอง


ในขณะที่หากลงทุนตรงด้วยตัวเอง อาจไม่สามารถกระจายการลงทุนได้ดี เกิดการ กระจุกตัว ในการลงทุนขึ้น เนื่องจากการลงทุนใน ‘ตราสารหนี้’ ใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างมาก


“สภาพคล่องของกองทุนตราสารหนี้ที่เป็น กองทุนเปิด ก็มีให้ซื้อขายกันได้ทุกวัน ในขณะที่การลงทุนเองโดยตรงนั้น เมื่อจำเป็นต้องใช้เงินเรื่องสภาพคล่องก็เป็นสิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงเช่นกัน ปกติก็สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินที่มีการซื้อขายกับนักลงทุนทั่วไปได้ แต่อาจมีเงื่อนไข เช่นลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท - 1 ล้านบาทขึ้นไป และราคาซื้อขายอาจไม่เท่ากับราคาที่ตราไว้ (Par Value) แต่จะขึ้นกับภาวะตลาดขณะนั้นด้วย”


ที่สำคัญ ‘กองทุนตราสารหนี้’ มีมืออาชีพอย่าง ผู้จัดการกองทุน คอยดูแลบริหารให้ ซึ่งถือเป็นอาชีพนักลงทุนเต็มเวลา เพราะ ‘ตลาดตราสารหนี้’ เองก็มีความสลับซับซ้อนของตราสารที่ลงทุนอยู่พอสมควร


“ผลตอบแทนของกลุ่ม กองทุนตราสารหนี้ เองก็มีความหลากหลายขึ้นกับระดับความเสี่ยงและตราสารหนี้ที่กองทุนเข้าไปลงทุนด้วยเช่นกัน โดยย้อนหลัง 3 ปี (ณ วันที่ 31 มี.ค. 19) กลุ่ม กองตราสารตลาดเงิน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.02% ต่อปี ในขณะที่กลุ่ม กองตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.22% ต่อปี โดยภาพรวมแล้วก็ยังดีกว่า ดอกเบี้ยเงินฝาก อยู่นั่นเอง”


ด้วยกลไกของตลาดตราสารหนี้เอง ถือเป็นเงื่อนไขที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป หรือแม้แต่นักลงทุนรายใหญ่ก็ตาม จึงทำให้การลงทุน
‘ทางอ้อม’ ผ่าน ‘กองทุนตราสารหนี้’ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า และสำหรับนักลงทุนที่อยากจะขยับออกจาก ‘เงินฝาก’ ที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ก็เหมาะมากที่จะเป็นก้าวแรกสู่โลกของการลงทุนของคุณเลยทีเดียว