การเงินเชิงพฤติกรรมกับการบริหารความมั่งคั่ง (2)

>>

ตอนที่ 2: อาการเสมือน… ‘สายตาสั้น (Myopia)’


โครงสร้างประชากรของสังคมไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างรวดเร็ว
เนื่องมาจากการควบคุมอัตราการเกิดโดยการคุมกำเนิด ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการด้านการแพทย์ส่งผลให้อัตราการตายลดลงและคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนานขึ้น เราน่าจะเคยได้ยินกันว่าสังคมไทยเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุ’ และจะเข้าสู่การเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์’ ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า[1]

“เมื่อได้ยินคำว่าสังคมผู้สูงอายุ เราก็อาจ (แอบ) ตกใจกันไม่มากก็น้อย บางคนก็ (แอบ) ตกใจใน แง่ดี ที่จะได้อยู่เสวยสุขบนกองเงินกองทองยาวนานขึ้น แต่บางคนก็ (แอบ) ตกใจใน ‘แง่ร้าย’ ที่จะต้องอยู่ทนทุกข์ทรมานบนโลกใบนี้ยาวนานขึ้น เงินทองที่อุตส่าเก็บหอมรอมริบมาช่วงวัยทำงานอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียนเพราะข้าวของสมัยนี้ราคาก็แพงหูดับตับไหม้ (แพงจริงๆ แพงแบบที่ไม่ได้มโนกันไปเอง)”


ถ้ามองกันในภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศอาจถือได้ว่า วิกฤตผู้สูงอายุ ได้ปูเสื่อรอสังคมไทยไว้แล้วในอนาคต เพราะจากการสำรวจประชากรผู้สูงอายุของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้เสริมของผู้สูงอายุที่มาจากเงินบำเหน็จบำนาญ ดอกเบี้ยจากการออม และเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุรวมกันแล้ว คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้หลักของผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่ เงินสนับสนุนจากสมาชิกของครอบครัวที่อยู่ในวัยทำงาน และเงินสะสมจากการทำงานของผู้สูงอายุเอง
“จากสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤตเช่นนี้ ถ้าเรามัวตั้งหน้าตั้งตารอคอยแต่เพียงเงินเกษียณที่จะได้รับจากนายจ้างและรัฐบาล คงมีหวังไม่กินแกลบก็ต้องกัดก้อนเกลือกินเพราะเงินหมดก่อนตายแน่นอน
!”


ในเมื่อเราหวังพึ่งใครไม่ได้ในยามแก่เฒ่า ที่พึ่งที่ดีที่สุดก็คือที่พึ่งตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ยกโขยงกันไปโกนหัวบวชพระบวชชีหลังเกษียณเพื่ออาศัยวัดเป็นที่พักพิงและขอข้าวก้นบาตรกินกัน แต่อยากให้ปฏิบัติตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “อัตตาหิ อัตตาโนนาโถ” หรือตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั่นเอง ถ้าเราไม่อยากเงินหมดก่อนตาย ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนักถึงการบริหารความมั่งคั่งและเริ่มเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อวัยเกษียณกันซะที


“ถ้าเราเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณได้เป็นอย่างดีและทันการณ์ ไม่เพียงตัวเราจะมีความสุขในโลกนี้เพราะตายก่อนเงินหมด แต่เราก็จะนอนตายตาหลับและมีความสุขในโลกหน้า เพราะเราได้ทิ้งมรดกตกทอดไว้ให้ลูกหลาน อย่างน้อยก็ไม่โดนลูกหลานนินทาลับหลัง!”


ตามผลการวิจัยทางการเงินเชิงพฤติกรรมพบว่า ถึงแม้คนเราจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของ การรออมเพื่อวัยเกษียณ แต่ก็เป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ได้วางแผนไว้ เนื่องจากความมี อคติ (Bias)’ หลายตัวที่เหมือนปีศาจร้ายแฝงในตัวเรา ส่งผลให้การตัดสินใจด้านการเงินเป็นไปในลักษณะที่ ไม่สมเหตุสมผล ในบทความฉบับนี้เราจะมาทำความรู้จักับอคติที่เรียกว่า อาการเสมือนสายตาสั้น (Myopia)  ซึ่งเป็นปีศาจร้ายตัวหนึ่งที่ทำให้เงินหมดก่อนตายได้


อาการเสมือนสายตาสั้นที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาการทางสายตาที่สามารถรักษาได้โดยการใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์ หรือทำเลสิค แต่หมายถึง การที่คนเรามักจะให้ความสำคัญกับการจับจ่ายใช้สอย เพื่อหาความสุขในปัจจุบันมากกว่าการออมเพื่อใช้จ่ายในอนาคต พฤติกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของงานวิจัยในอดีต จากการทดลองของ Laibson et al. (1998) พบว่า สำหรับคำถามที่ 1 คนส่วนใหญ่จะเลือกรับเงิน $115 ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ทางเลือก A) มากกว่าที่จะเลือกรับเงิน $100 ในอีก 1 ปีข้างหน้า (ทางเลือก B) แสดงว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับอนาคตที่ ไกลออกไป’ มากกว่าอนาคต ‘อันใกล้’ เพราะคนเราจะใช้ฟังก์ชั่นคิดลดแบบเอ็กซ์โปเนนเชียลสำหรับการตัดสินใจที่ผลของการตัดสินใจจะเกิดขึ้นในอนาคต


ถ้าคนเหล่านี้เป็นคนที่มีเหตุมีผลและใช้กระบวนการตัดสินใจอยู่กับร่องกับรอย ทางเลือก C ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่จะต้องตอบมากกว่าทางเลือก D สำหรับคำถามที่ 2 แต่ผลการทดลองไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตามหลักความมีเหตุมีผล เพราะคนส่วนใหญ่เลือกทางเลือก D มากกว่าทางเลือก C ซึ่งแสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับ ‘ปัจจุบัน’ มากกว่า ‘อนาคต’ เพราะคนเราจะเปลี่ยนมาใช้ฟังก์ชันคิดลดแบบไฮเปอร์โบลิกสำหรับการตัดสินใจที่ผลของการตัดสินใจจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
“เราอาจคิดว่าแนวทางในเอาชนะอคติตัวนี้จะออกแนวเผด็จการหรือไสยศาสตร์มนต์ดำไปสักหน่อย (ในเมื่ออคติเปรียบเสมือนปีศาจร้าย ดังนั้นการใช้เวทมนต์คาถาไล่ผีร้ายก็ดูจะเหมาะสมดี!) ถ้ามัวแต่รอให้คนสมัครใจเข้ากองทุนเพื่อวัยเกษียณด้วยตนเอง อาจต้องรอเป็นสายบัวรอเก้อก็เป็นได้”

ด้วยเหตุนี้เอง “การออมภาคบังคับจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่มีส่วนช่วยให้สังคมไทยมีโอกาสรอดพ้นจากวิกฤตผู้สูงอายุที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต” บางครั้งการอยู่กับปัจจุบันมากเกินไป ก็อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ