เปลี่ยน “หนี้ท่วมหัว”...เอาตัวให้รอด (ตอนที่ 2)

>>

จากบทความฉบับก่อนซึ่งได้นำเสนอแนวทางสำหรับการจัดการหนี้ท่วมหัว ซึ่งเริ่มตั้งแต่การตั้งสติ ยอมรับ และเริ่มจดรายละเอียดสำหรับวางแผนจัดการหนี้ทั้งหมด จากนั้นแบ่งกลุ่มหนี้ออกเป็นกลุ่ม หนี้ดีและ หนี้ไม่ดี ขณะเดียวกันก็หยุดสร้างหนี้ก้อนใหม่และพยายามเข้าเจรจากับเจ้าหนี้ปัจจุบัน อีกทั้งหาแหล่งเงินทุนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิมให้มีต้นทุนต่ำลง


ในตอนที่ 2 นี้เรายังคงนำเสนอแนวทางอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะการเอาตัวรอดจากการเป็นหนี้ แต่จะทำอย่างไรจึงจะสามารถมีเงินออมเพิ่มขึ้นมาได้ แม้ยังปลดหนี้ได้ไม่หมด

  • ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น: ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็นลง เช่น เปลี่ยนโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือ ที่มีราคาแพงให้เหมาะสมกับการใช้งานของเรา ลดการออกไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน หรือเปลี่ยนจากการจ่ายค่าฟิตเนสรายเดือนมาออกกำลังกายที่สวนสาธารณะแทน เป็นต้น


นอกจากนี้อาจจะจดบันทึกรายรับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน เสมือนเป็นการคอยเตือนตัวเองไม่ให้ใช้จ่ายไปกับสิ่งที่เกินจำเป็น หรือเกินงบประมาณที่ตั้งไว้”

  • พยายามเพิ่มรายได้: ในเมื่อเราจะจริงจังกับการแก้หนี้แล้ว การหารายได้เสริมโดยเริ่มต้นจากความสามารถที่เรามีอยู่เดิมและไม่ต้องใช้เงินลงทุน ตัวอย่างเช่น บางท่านมีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ อาจเริ่มหารายได้พิเศษจากการสอนภาษา เป็นต้น โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นสามารถนำมาชำระหนี้เพิ่ม เพื่อเร่งการปิดหนี้ให้หมดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่แนะนำการหารายได้เสริมที่จะต้องลงทุนจำนวนมากจนต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในการลงทุน

  • คิดก่อนผ่อน: ในกรณีที่เรามีรายได้เพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะจาก งานเสริมหรือ เงินโบนัส จากการทำงาน นอกจากสามารถนำไปชำระหนี้เพิ่มขึ้นแล้ว สามารถแบ่งสันปันส่วนสำหรับซื้อสิ่งของที่ต้องการด้วยเงินสด แทนที่จะใช้วิธีการผ่อนสิ่งเหล่านั้นซึ่งถือเป็นการฝึกวินัยในการออมและความอดทนต่อการใช้จ่าย


เมื่อเราตั้งโจทย์ให้ตัวเองสามารถซื้อได้ยากขึ้น  เสมือนเป็นการฝึกให้เราไตร่ตรองถึงสิ่งที่เราจะใช้จ่ายไปมากขึ้น ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือเป็นสิ่งที่เราต้องการมันจริง ๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ความอยากได้ชั่วครั้งชั่วคราว” 
 

  • เริ่มเก็บออม: ออมก่อนใช้ สร้างวินัยในการออมเงินให้ตัวเอง โดยกำหนดจำนวนเงินที่เราสามารถออมได้ในแต่ละเดือนให้ชัดเจน และออมเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างวินัยใหม่ให้ตัวเอง ซึ่งเงินที่ออมนี้ควรเริ่มเก็บเป็น เงินสำรองเผื่อยามฉุกเฉินก่อน เพื่อเป็นแหล่งเงินหมุนในระยะสั้นเมื่อเกิดค่าใช้จ่ายอันไม่คาดฝันหรือเกิดเหตุสะดุดในชีวิต เช่น เกิดเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ลูกค้าจ่ายเงินช้ากว่ากำหนด ฯลฯ


โดยตามทฤษฎีแล้ว เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น หากมีรายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินฉุกเฉินสำรองไว้ 60,000 - 120,000 บาท เมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย เราจะเอาเงินส่วนนี้ออกมาใช้จ่าย เพื่อไม่ให้รายจ่ายที่ไม่คาดคิดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเงินที่ต้องชำระหนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ได้ในท้ายที่สุด

  • สร้างสินทรัพย์: หลังจากมีเงินสำรองฉุกเฉินในจำนวนที่เพียงพอแล้ว ค่อย ๆ เริ่มนำเงินออมมาต่อยอดเพื่อสร้างสินทรัพย์ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเราในอนาคต โดยรายได้ที่เกิดขึ้นสามารถนำมาช่วยผ่อนชำระหนี้ที่เรายังคงค้างอยู่ได้อีกทาง



“ถึงแม้ว่า การปลดหนี้ จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถทำได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่ก็ใช่ว่าจะสำเร็จไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด เพียงเราเริ่มตระหนักและมีใจมุ่งมั่นที่จะจัดการหนี้สินที่มีอย่างจริงจัง ก็ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จแล้ว”


ถึงแม้ท้ายที่สุด
ภาระหนี้ที่มีอาจจะไม่ได้หมดไปซะทีเดียว แต่เราก็ได้สร้างวินัยใน การออมและการใช้จ่ายซึ่งเปลี่ยนเราเป็นคนใหม่ ไม่ใช่คนที่ไม่ตระหนักรู้หรือสร้างหนี้จนเกินตัวเฉกเช่นในอดีต


ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่
LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th

YOU MIGHT ALSO LIKE