3 แหล่งเงิน... “เกษียณ” แล้ว-ห้ามลืม!!!

>>

ถ้าวันนี้คุณต้องเกษียณ...จะมี ”แหล่งเงิน” ไหนบ้างมั้ย? ที่คุณนึกถึง


ทำงานมาทั้งชีวิต สุดท้ายก็ต้องเกษียณ...จะโดยสมัครใจหรือไม่ก็ตาม แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง ก็อย่าลืมว่า...คุณมี ‘แหล่งเงินเกษียณ’ ตามสิทธิที่พึงได้อยู่ด้วย


หลายคนไม่ทราบ จน ‘ทิ้งเงิน’ เกษียณเหล่านี้ไว้โดยไม่รู้ตัว


หลายคนจนวันนี้ก็ยังไม่ทราบเลยว่า...มี ‘เงินเกษียณ’ เหล่านี้อยู่ด้วย


ครั้งนี้ ทีมงาน ‘Wealthythai’ จะพาคุณไปค้นหา ‘แหล่งเงินเกษียณ’ พึงมีของแรงงานไทย ถ้าคุณมีสิทธิก็ไม่ควรละเลย

 


เงินชดเชยตามกฎหมาย


เรามาดูแหล่งเงินก้อนแรกกันก่อนเลย เรียกว่า เป็นสิทธิที่แรงงานทุกคนพึงมีตามตัวบทกฎหมายนะ ถ้าคุณเกษียณในบริษัทที่คุณทำงานมาต่อเนื่อง ‘มากกว่า 10 ปี’ ก่อนที่คุณจะเกษียณ คุณจะได้รับ ‘เงินชดชยตามกฎหมาย’ เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเราจะโฟกัสกันที่เงินชดเชยก้อนนี้เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งก็เรียกว่าช่วงสุดท้ายของการทำงาน นี่ก็เป็น ‘สิทธิพึงได้’ แต่คนทำงานหลายคนก็ยังไม่ทราบในเรื่องนี้


“ในมาตรา 118 ของ
‘พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541’ กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่เลิกจ้าง ซึ่งรวมถึงกรณีเกษียณอายุด้วย”


จำนวนเงินชดเชย ก็จะขึ้นกับอายุงาน (ทำงานติดต่อกัน) ที่ทำในบริษัทนั้นด้วย ซึ่งเชื่อว่าแรงงานส่วนใหญ่ก็คงไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานบ่อย อยากเกษียณไปกับบริษัทที่ตัวเองทำงานด้วย นั่นก็คือ ‘เงินเกษียณ' สูงสุดที่คุณพึงจะได้ตามกฎหมาย


ตัวอย่าง
: คุณเริ่มต้นทำงานอายุ 22 ปี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เกษียณอายุ 60 ปี ระยะเวลาทำงาน 35 ปี ให้เงินเดือนขึ้น 3% ทุกปี เงินเดือนปีสุดท้ายคุณจะอยู่ที่ประมาณ 42,200 บาท ถ้าคุณทำงานก่อนเกษียณที่บริษัทเดิมมากกว่า 10 ปี คุณจะได้เงินเกษียณจากนายจ้างเป็นเงินชดเชยประมาณ 10 เดือน หรือประมาณ 422,000 บาท ไม่น้อยนะเอาไว้เป็นเงินไว้ใช้ต่อยอดชีวิตหลังเกษียณได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว


“แต่เรามาพบเห็นเรื่องเงินชดเชยกันมากในช่วงนี้ จากกรณีที่บริษัทสื่อต่างๆ ปิดกิจการ หรือเลิกจ้างพนักงานนั่นเองโดยลูกจ้าง ‘ไม่เป็นฝ่ายผิด’ จะถูกเลิกจ้าง ไล่ออก เกษียณ หรือหมดสัญญาจ้างคุณก็มีสิทธิตามนี้ แต่ถ้าสมัครใจลาออกเองหรือถูกไล่ออก (แต่คุณผิด) จะหมดสิทธินะ นี่คือแหล่งเงินเกษียณก้อนแรกของคนทำงานเลยที่ควรรู้ไว้”

 


เงินประกันสังคม-กรณีชราภาพ


เป็นอีกแหล่งเงินสำหรับคนวัยเกษียณที่ไม่ควรละเลย เพราะหนึ่งในความคุ้มครองที่ “ประกันสังคม” ให้กับผู้ประกันตนก็คือ ความคุ้มครองใน ‘กรณีชราภาพ’ นั่นเอง หลายคนถูกหักเงินประกันสังคมทุกเดือนแต่ไม่เคยใช้สิทธิอะไร ก็รู้สึกว่าไม่คุ้มเอาเสียเลย แต่ที่ไหนได้เงินที่ถูกหักจากลูกจ้างและนายจ้างฝ่ายละ 5% โดยรัฐบาลจะสมทบให้อีก 2.75% รวมแล้ว 12.75% เพื่อใช้เป็นสวัสดิการของสมาชิกผ่านประกันสังคม โดยให้ความคุ้มครองสมาชิกถึง 7 กรณี (ส่วนใครจะใช้หรือไม่ใช้อีกเรื่อง)


หนึ่งในนั้นคือ "ความคุ้มครองในกรณีชราภาพ" ทั้งนี้เงินที่ลูกจ้างและนายจ้างส่งเข้าประกันสังคมฝ่ายละ 5% นั้นจะเก็บไว้เป็นกรณีบำนาญฝ่ายละ 3% รวมเป็น 6% เข้ากองทุนชราภาพซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 1998 เป็นต้นมา ส่วนใครจะได้เป็น ‘บำเหน็จ’ หรือ ‘บำนาญ’ นั้น ตัดกันที่ตัวเลขการส่งเงินสบทบที่ ‘180 เดือน’ หรือ ’15 ปี’ เป็นสำคัญ


“สำหรับผู้ที่ส่งเงินสมทบมา ‘ไม่ครบ 180 เดือน’ จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงิน "บำเหน็จ" ซึ่งจะต้องครบเงื่อนไข 3 ประการ คือ ส่งเงินสบทบ ‘ไม่ครบ 180 เดือน’ ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย


โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 กรณี ได้แก่

  1. จ่ายเงินสมทบ ไม่ถึง 12 เดือน จะได้บำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุน เพราะฉะนั้น ถ้าเงินเดือน 15,000 บาท และส่งเงินสมทบกรณีชราภาพเดือนละ 450 บาท จะได้เงินบำเหน็จเท่ากับ 450 บาท คูณกับจำนวนเดือนที่ส่งเงินสมทบ

  2. จ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป (แต่ไม่ถึง 180 เดือน) จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งมาจาก 3 ส่วน คือ เงินสมทบของสมาชิก เงินสมทบของนายจ้าง ที่สมทบมาทั้งหมด บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด


“แต่ถ้าคุณส่งเงินสมทบมา ‘ไม่น้อยกว่า 180 เดือน’ ก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ "บำนาญ"


โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้จะต้องมีครบทั้ง 3 เงื่อนไข คือ ระยะเวลาส่ง ‘ไม่น้อยกว่า180 เดือน’ ไม่ว่าจะส่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม อายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง


โดย ‘อัตราเงินบำนาญรายเดือน’ จะเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบ ‘มากกว่า 180 เดือน’ ได้รับเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน (เศษเกินปัดทิ้ง) นั่นจะทำให้คนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจะได้รับเงินบำนาญ 3,000 -7,500 บาทต่อเดือน ขึ้นกับระยะเวลาในการส่งเงินสบทบของคุณเป็นสำคัญ


“แต่ไม่ว่าจะเลือกรับ ‘บำเหน็จ’ หรือ ‘บำนาญ’ คุณก็ต้องไปยื่นคำขอที่สำนักงานประกันสังคมที่สะดวก ยื่นที่ไหนก็ได้ แต่ต้องไปยื่นเพื่อขอรับสิทธิ ‘ภายใน 2 ปี’ นับจากวันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์กรณีชราภาพ หรือวันที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ที่ผ่านมามีหลายคนสูญเสียเงินก้อนนี้ไปเพราะไม่ได้ไปยื่นรักษาสิทธิของตัวเองเอาไว้นั่นเอง ยื่นแล้วคุณจะได้รับเงินก็ตอนเกษียณนะ แต่รักษาสิทธิเอาไว้ก่อน อย่าลืม”

 


เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ


สำหรับ 2 แหล่งเงินเกษียณแรกนั้น เป็นสิ่งที่เป็นของคุณที่มากับช่วงเวลาในการทำงานของคุณ เพียงแต่ไม่เคยได้ใช้เพราะยังไม่ถึงเวลา จนหลายคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี ‘แหล่งเงินเกษียณ’ เช่นนี้อยู่ด้วย หรือบางคนรู้ว่ามีแต่ไม่รู้ขั้นตอน เช่น เงินชราภาพของประกันสังคม พอออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี หลายคนก็ไม่เคยไปยื่นใช้สิทธิเอาไว้ สุดท้ายเงินเข้าหลวง ประโยชน์ที่ตัวเองควรได้รับก็ชวดไป ก็มีให้เห็นมาตลอด


ส่วนแหล่งเงินเกษียณที่ 3 ที่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนนี้ เรียกว่า “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก็เป็นอีกแหล่งเงินเกษียณที่คนไทยที่เกษียณทุกคนมีสิทธินะ อาจจะไม่ได้มากมายอะไร แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย จริงมั้ย?


“เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”
คือ สวัสดิการที่รัฐมีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ นับว่าเป็นอีกสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ คือ ‘บุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป’ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน


“เมื่ออายุครบ 60 ปี คนไทยที่มีสัญชาติไทยทุกคนจะมีสิทธิได้รับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เหมือนกันหมด ยกเว้นคนที่ได้รับสวัสดิการหรือ สิทธิประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเบี้ยยังชีพนี้จะจ่ายเป็น ‘รายเดือน’ โดยเข้าบัญชีเงินฝากภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน ตามอัตราที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่ 600 – 1,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิจะต้องยื่นคำขอหรือลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย.ของทุกปี และเริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพให้ตั้งแต่เดือนต.ค.ปีถัดไป ดังนั้น ผู้มีสิทธิควรลงทะเบียนล่วงหน้า 1 ปี ก่อนอายุครบ 60 ปี เพื่อให้ได้รับเบี้ยยังชีพทันทีเมื่ออายุครบ 60 ปี นั่นเอง


นี่คือ
‘3 แหล่งเงินเกษียณ’ ที่เป็นสิทธิของแรงงานไทยทุกคนพึงมี บางส่วนก็เกิดขึ้นมาระหว่างช่วงเวลาที่คุณทำงานสะสมความมั่งคั่งในชีวิต บางส่วนก็เป็นสิทธิพึงมีเมื่อคุณเป็นผู้สูงอายุจากภาครัฐ เรียกว่า ‘ได้มาเอง’ จะโดยบังคับออมหรือตามสิทธิก็ตาม ดังนั้น ‘เกษียณ’ แล้ว อย่าลืมเด็ดขาด เพราะนี่คือสิทธิพึงได้โดยชอบของแรงงานไทยทุกคน