“23 บลจ.”...โชว์กำไรปี18 ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%
ผ่านไปสำหรับเทศกาลประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่1/19 ไปเรียบร้อยแล้ว
ในฝั่งของธุรกิจกองทุนเองนั้น งบปี2018 ก็เพิ่งจะประกาศออกมาครบเช่นเดียวกัน
ในจำนวน ‘23 บลจ.’ นั้น มีกำไรเบ็กเสร็จรวมสำหรับปี18 เพิ่มขึ้นเป็น11,266.98 ล้านบาท ทะลุหนึ่งหมื่นล้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากปี2017 ที่ 9,385.92 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.04%
ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่ยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง
“บลจ.กสิกรไทย”...แชมป์กำไรสูงสุด 2,804.32 ล้านบาท
จาก 23 บลจ. นั้น มี 16 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 69.57% จากบลจ.ทั้งหมด ที่มีกำไร อีก 7 แห่ง คิดเป็น 30.43% จากทั้งหมด ที่ยังขาดทุน
สำหรับบลจ. 5 แห่ง ที่มีกำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี18 สูงสุดนั้น มีกำไรรวมกัน 8,114.87 ล้านบาท คิดเป็น 72.02% ของกำไรทั้งอุตสาหกรรมเลยทีเดียว
“โดยบลจ.ที่มีกำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี18 สูงสุด ได้แก่ ‘บลจ.กสิกรไทย’ ด้วยตัวเลขกำไร 2,804.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.70% จากปี17”
“บลจ.แมนูไลฟ์”...ขาดทุนสูงสุด 52.53 ล้านบาท
ส่วนบลจ.ที่มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จสำหรับปี18 สูงสุด ได้แก่ “บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย)” มียอดขาดทุนอยู่ 52.53 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นผลประกอบการของ “ตัวบลจ.” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของ “กองทุน” ภายใต้การบริหารของแต่ละบลจ.แต่ประการใด เพราะเป็นกองทรัพย์สินที่แยกออกมาต่างหากไม่เกี่ยวข้องกับบลจ.อยู่แล้ว อย่างที่นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมก็จะทราบกันเป็นอย่างดี
“แต่ในมุมหนึ่งก็มีเสียงสะท้อนมาเช่นกันว่า...ผลประกอบการของบลจ.เองก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรปิดบังแต่ประการใด เพราะถ้าบริษัทไม่มีเงินจะทำธุรกิจจะไปลงทุนในเรื่องบุคลากร เรื่องคน เรื่องระบบ แล้วจะบริหารกองทุนให้ดีได้ยังไงกัน แต่ทั้งนี้ก็คงต้องดูโมเดลธุรกิจของแต่ละแห่งด้วยเช่นกัน อย่างบลจ.บางแห่งเป็นบริษัทลูกของแม่ในต่างประเทศ ซึ่งมีศักยภาพในการสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินการไปได้ไม่มีปัญหาอะไร หรือบางแห่งเพิ่งเริ่มต้น ยังอยู่ในเฟสของการลงทุน ยังไม่ถึงระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวสิ่งที่ลงทุนลงแรงกันไป ก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะคืนทุน เป็นต้น”
ผลประกอบการของบลจ. ก็มีปีที่ดีและปีที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน สุดท้ายเราลงทุนใน “กองทุน” ก็ต้องโฟกัสไปที่ผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นสำคัญ