นายอภิศักดิ์ ตันติวงวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ค. 2562 ได้เห็นชอบการปรับปฏิทินงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ซึ่งจะล่าช้าออกไปกว่าปกติที่จะต้องเริ่มใช้วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นเริ่มใช้ 1 ม.ค. 2563 เนื่องจากต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาเพื่อพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ได้ตามปกติในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำ และงบลงทุนซึ่งเป็นงบเหลื่อมปี งบประมาณที่ผูกพันมาแล้ว โดยสามารถให้ใช้จ่ายได้ภายในกรอบวงเงินไม่เกิน 50% ของงบประมาณปี 2562
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ให้ทุกหน่วยงานทบทวน เพิ่มเติม และยืนยันคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณในเดือน ก.ค. นี้ จากนั้นจึงรวบรวมเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ปลายเดือนก.ย. 2562 และในวาระที่ 2-3 ต้นเดือน ธ.ค. 2562 ก่อนเสนอให้วุฒิสภากลางเดือนธ.ค. 2562 จากนั้นจึงนำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลใหม่แล้ว สำนักงบประมาณจะเริ่ม ทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 ใหม่ เพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้วางแผนการใช้จ่ายเงินตามนโยบายที่ได้หาเสียงกับประชาชนแต่จะต้องอยู่ภายในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี
ขณะที่ 4 หน่วยงานซึ่งประกอบด้วย
- กระทรวงการคลัง
- สำนำงบประมาณ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
จะต้องมีการหารือเพื่อร่วมกันกำหนดกรอบรายได้อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลปัจจุบันได้เห็นของกรอบวงเงินงบประมาณราย จ่ายปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท
นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีงบลงทุน 640,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้สำนักงบประมาณตั้ง เป้าหมายเบิกจ่ายได้สูงสุดประมาณ 90% เนื่องจากส่วนราชการได้เร่งรัดทำสัญญาและก่อหนี้ผูกพันได้จำนวนมากแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 10% คาดว่า จะก่อหนี้ผูกพันไม่ทัน สำนักงบประมาณก็ตัดงบดังกล่าวทันที