“ไม่ลงทุน” ..ก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยง

>>

ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” กันมาบ้างแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่าถ้าเราเลือกที่จะไม่ลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ เลยเพราะกลัวจะขาดทุน เราก็จะเจอกับความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน เรามาลองทำความเข้าใจกับความเสี่ยงจากการ “ไม่” ลงทุนกันดูนะคะว่ามีอะไรบ้าง

  • ความเสี่ยงที่เกิดจาก “อัตราเงินเฟ้อ” คือ มูลค่าเงินที่ลดลงอันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อ ถ้าท่านผู้อ่านเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ แล้วคิดว่าเงินเหล่านั้นจะเติบโตงอกเงยขึ้นทุกๆ ปีจากดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายให้เป็นประจำ ท่านกำลังเข้าใจผิด!


เงินของท่านอาจกำลังมีมูลค่าลดลงเพราะถูกเจ้าอัตราเงินเฟ้อกัดกินอยู่นะคะ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป* ของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ระหว่าง 2-5% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และประจำที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้เราอยู่ที่ประมาณ 0.5-3% ต่อปีเท่านั้น ดังนั้นการเก็บออมเงินไว้กับธนาคารจึงจะทำให้มูลค่าเงินของเราลดลงเรื่อยๆ”


  • ความเสี่ยงจากการมีเงินไม่เพียงพอสำหรับรองรับการเกษียณ เพราะวัยเกษียณเป็นวัยที่รายได้หยุดลง แต่รายจ่ายยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ เราจึงต้องเตรียมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณให้เพียงพอ บางคนอาจจะบอกว่าเมื่อไม่มีเงินก็ไม่ต้องเกษียณสิ ทำงานกันต่อไปเรื่อยๆ ข้อนี้นับว่าถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่ความเป็นจริงคือเราไม่สามารถทำงานไปได้ตลอดทั้งชีวิต ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเตรียมเงินให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณ


อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงเริ่มคิดแล้วว่า “ถ้าฉันจะเริ่มลงทุนต้องทำอย่างไรบ้าง? เราลองมาดู 6 ขั้นตอนสู่การลงทุนแบบ Step by Step** กันค่ะ


Step 1  :
รู้จักตนเอง
คือ ต้องรู้เป้าหมายการลงทุนของตนเองอย่างชัดเจนว่าต้องการลงทุนเพื่ออะไร? ต้องการใช้เงินประมาณเท่าไหร่? และต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อใด? เป้าหมายที่ชัดเจนจะเป็นกรอบสำคัญให้เราเลือกสินทรัพย์ลงทุนได้อย่างเหมาะสม จากนั้นค่อยพิจารณาว่า “คุณรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด?” รวมทั้งคำนึงถึง “ข้อจำกัดและเงื่อนไข” ต่างๆ ของคุณเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงทางเลือกการลงทุนและสัดส่วนการลงทุนแบบใดที่จะเหมาะสมกับคุณมากที่สุด


Step 2   :
รู้จักทางเลือกการลงทุน
คือการศึกษาหาข้อมูลของสินทรัพย์เพื่อการลงทุนต่างๆ ทำความเข้าใจถึงคุณสมบัติเฉพาะตัว ความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวัง ตลอดจนข้อดีและข้อเสียของสินทรัพย์แต่ละประเภท


Step 3
  : การศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและเทคนิค คุณควรเข้าใจเรื่อง “ปัจจัยพื้นฐาน” ที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ที่จะลงทุน การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอาจเริ่มจากการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจลงมาสู่อุตสาหกรรม และท้ายสุดจะสามารถเลือกสินทรัพย์ที่ควรลงทุนได้ หลังจากค้นพบสินทรัพย์ที่สนใจแล้ว “ปัจจัยเทคนิค” จะมีความสำคัญในการที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการกำหนดจุดซื้อ-จุดขายของสินทรัพย์ที่เราต้องการลงทุน


Step 4
  : สร้างพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมและจัดทำ “นโยบายการลงทุนส่วนตัว”
พอร์ตลงทุนที่ดีต้องมีการกระจายความเสี่ยงอย่างสมดุล มีความยืดหยุ่น มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนของตนเอง โดยต้องไม่ลงทุนหลากหลายหรือกระจัดกระจายเกินไป


Step 5 : 
ลงมือทำตามแผน
โดยการติดต่อขอเปิดบัญชีกับบริษัทที่เป็นตัวแทนในการซื้อขายสินทรัพย์ที่เราต้องการลงทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นต้น


Step 6
ติดตามและทบทวนแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
หมั่นตรวจสอบสถานะการลงทุนเป็นประจำ อาจจะทบทวนทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะได้ปรับพอร์ตการลงทุนได้ทันท่วงที

 

การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด คือ “การลงทุนโดยไม่มีความรู้” ดังนั้นการหมั่นศึกษาหาความรู้และข้อมูลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอและรอบด้านจึงเป็นวิธีการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่ง


อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย  www.set.or.th/education
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th                                                                                                                                                                                           

 

YOU MIGHT ALSO LIKE