คิดจะเก็บเงินเพื่อเกษียณ...อย่าลืม “3 แหล่ง-สุดคุ้ม”

>>

ในครั้งที่แล้วได้พาไปพบกับแหล่งเงินเกษียณทั้ง 3 ที่จะเรียกว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายก็คงไม่ผิดนัก ทั้ง เงินประกันสังคม-เงินชดเชยแรงงาน-เบี้ยผู้สูงอายุ


ครั้งนี้จะมาว่ากันต่อถึงแหล่งเงินเพื่อเกษียณอีก 3 แหล่ง ที่ถือว่า คุ้มสุดคุ้ม เป็นแพคเกจที่มาพร้อมแต้มต่อเป็น “ประโยชน์ทางภาษี” ยืนพื้นมาให้เพราะเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และหากเลือกได้ดีก็จะมีผลตอบแทนส่วนเพิ่มแถมมาให้อีกด้วย


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถือเป็นแหล่งเงินเกษียณที่คุณต้อง สมัครใจ เก็บไว้ให้กับตัวเอง ไม่เก็บ...ก็ไม่มี


“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”...เก็บ
1 ได้ถึง 4


จัดอยู่ในทำเนียบการเก็บเงินเพื่อเกษียณ สุดคุ้ม อันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ บริษัทไหนมี “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund :PVD)” ให้ ต้องรีบสมัครเป็นสมาชิกกองทุนทันที ห้ามพลาดเด็ดขาด นี่ถือเป็นการพาตัวเองก้าวไปสู่การเก็บเงินผ่านระบบ PVD โดยอัตโนมัติ ขั้นที่1’


PVD เป็นการออมภาค สมัครใจ ที่ให้ประโยชน์กับสมาชิกค่อนข้างมาก โดยเงินที่ใส่เข้า PVD จะมาจากส่วนของ ลูกจ้าง-เงินสะสม ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน และส่วนของ นายจ้าง-เงินสมทบตั้งแต่ 2-15% เช่นกัน แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละบริษัท


“แค่คุณพาตัวเองก้าวมาสู่ขั้นที่1 นี้ได้ ก็พาเงินเกษียณคุณขยับเข้าใกล้เป้าหมายแล้วส่วนหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่คุณเก็บ นายจ้างก็จะสบทบให้ตามสัดส่วน สมมติคุณเก็บ 5% นายจ้างสมทบ 5% ก็เหมือนคุณลงทุนได้ผลตอบแทนเท่าตัวโดยที่ยังไม่ต้องทำอะไรเลย (ในกรณีที่นายจ้างสมทบให้ในสัดส่วนที่เท่ากันนะ)”


แต่ถ้าคุณพอใจอยู่แค่ขั้นที่1 ก็เป็นเรื่องที่ น่าเสียดาย เพราะเงิน PVD ของคุณจะงอกเงยจนผลิดอกออกผลได้มากหรือน้อยนั้น ขึ้นกับการเลือก แผนการลงทุน ที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ถือเป็นก้าว ขั้นที่2’ ที่คุณควรจะพาตัวเองไปให้ถึงจุดนี้ให้ได้ เพราะมันจะหมายถึงผลประโยชน์ที่จะติดตามมาอีก 2 ส่วน คือ ประโยชน์ของเงินสะสม-ลูกจ้าง และ ประโยชน์ของเงินสมทบ-นายจ้าง นั่นเอง


“ถ้าเลือกแผนการลงทุนที่เสี่ยงต่ำเกินไป เงินคุณก็จะงอกเงยได้ไม่ดี เติบโตได้ช้า ถ้า PVD ที่คุณเลือกได้ผลตอบแทน 2% เงินจะโตเป็น 2 เท่า ต้องใช้เวลา 36 ปี แต่ถ้าได้ผลตอบแทน 7.5% จะใช้เวลาลดลงเหลือ 9.6 ปีเท่านั้น เรียกว่าเงินมีโอกาสเติบโตได้ดีก่อนจะถึงวันเกษียณแตกต่างกันไปตามแต่แผนการลงทุนที่คุณเลือกเป็นสำคัญ ฉะนั้น ห้ามละเลยเด็ดขาด!!!”


โดยคุณจะได้รับเงิน PVD ครบทั้ง 4 ส่วน สะสม-ผลประโยชน์เงินสะสม-สมทบ-ผลประโยชน์เงินสมทบ และได้รับ ยกเว้นภาษี ถ้าสมาชิกได้รับเงินคืนจากกองทุนตามเงื่อนไขดังนี้

 

  1. ออกจากงาน 
  2. สมาชิกมีอายุขณะที่ได้รับเงินคืน ไม่น้อยกว่า 55 ปี บริบูรณ์ และ
  3. เป็นสมาชิกกองทุนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน (อายุสมาชิก)


“ข้อดีของการเก็บเงินเพื่อเกษียณผ่าน PVD คือ ได้เงินทั้งในส่วนของ ลูกจ้าง และ นายจ้าง ด้วย (หากลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทและเงื่อนไขภาษี) จึงถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับชีวิตในวัยเกษียณแหล่งหนึ่งเลยทีเดียว”

 

 


“กอง
RMF”...ลงทุนเพื่อเกษียณได้ 2 เด้ง


แหล่งเก็บเงินเพื่อเกษียณที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)เป็นแหล่งเงินสำหรับคนวัยเกษียณที่สำคัญ เพียงแต่ปัจจุบันยังมีคนเข้ามาใช้ประโยชน์ไม่ค่อยมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ‘กอง RMF’ นั้น ก็ชัดเจนส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเอง และครอบครัวเมื่อเกษียณแล้ว


สำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ในระบบ PVD หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)ก็ไม่ต้องเสียกำลังใจไป เพราะคุณสามารถเก็บออมเพื่อเกษียณผ่านกอง RMF ได้ด้วยตัวเองทันที (เหมาะกับคนที่มีภาระภาษีบุคคลธรรมดาเท่านั้น) ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ เงินสะสม ในระบบ PVD แต่ประการใด เพียงแต่เราตั้งเอง ชงเอง และกินเองตลอดสายของการลงทุนไม่ได้มีส่วนของ ‘นายจ้าง’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้นเอง


แต่รัฐก็ให้ ประโยชน์ทางภาษี มาไว้เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่คิดจะเก็บออมเพื่อเกษียณเช่นกัน นี่แหละที่เรียกว่า...ลงทุนได้ 2 เด้ง


เด้งแรก
...ผลตอบแทนตามภาษีที่ประหยัดได้ตามฐานภาษีแต่ละคน 5-35% ซึ่งภาษีที่ประหยัดได้ก็คิดเป็นผลตอบแทนที่ได้รับไปก่อนเลย


เด้งสอง
...ผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งยังคงสำคัญในการเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะสม ซึ่ง ‘กอง RMF’ มีนโยบายการลงทุนให้ครบถ้วนในสินทรัพย์หลักๆ รวมถึงการลงทุนต่างประเทศ สามารถจัดเป็นพอร์ตเพื่อเป้าหมายเกษียณให้ตัวเองได้เลย


แต่การลงทุนก็มีเงื่อนไข คือ ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน) จริงๆ ไม่ได้ลำบากอะไรเลย เพราะเงิน ขั้นต่ำ ที่ลงทุนได้นั้นแค่ 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้ (เลือกเอายอดที่ต่ำกว่า) แต่กำหนดเงินลงทุน ‘สูงสุด’ ไว้ที่ ไม่เกิน 15%’ ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และต้อง ไม่เกิน 500,000 บาท โดยให้นับรวมเงินสะสมเข้า PVD ,กบข. ,ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนด้วย


“โดยเงินที่ลงทุนผ่านกอง RMF จะได้รับประโยชน์ภาษี เมื่อไปขายคืนหน่วยลงทุนตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ (นับวันชนวัน) และลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งเงื่อนไขการลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษีของกอง RMF ไม่ได้ลำบากอะไร ก็ไม่ได้แตกต่างกับเงินออมในระบบ PVD อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูงด้วย สำหรับใครที่สามารถจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ผ่านกอง RMF ได้ ก็อยากจะให้มาใช้ประโยชน์กันให้มากๆ เช่นกัน”


ส่วนใครที่ไม่มีภาระภาษีต้องเสีย อยากออมเงินเพื่อเกษียณก็สามารถทำได้เลยผ่าน กองทุนรวม ทั่วไป ซึ่งทำได้เองทันที ไม่มีเงื่อนไขการลงทุนมาบังคับ ดังนั้น คุณต้องมี วินัย กับตัวเอง ท่องไว้ในใจว่าเงินเกษียณ ไม่เกษียณ...ไม่เอาออกมาใช้เท่านั้นเอง  

 

 


“ประกันชีวิตแบบบำนาญ”...สร้างเงินบำนาญให้ตัวเอง


มาถึงแหล่งสุดท้ายในชุดสุดคุ้ม ไม่ใช่รูปแบบกองทุนแต่เป็นรูปแบบของประกันในกลุ่มที่เรียกว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ(Annuity)ที่จะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเป็นรายงวดตามสัญญาเมื่อเกษียณหรือครบสัญญา แต่จะมีประกันชีวิตของบางที่เท่านั้นที่มีประกันชีวิตแบบนี้ไม่ใช่ทุกที่จะมีประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของบำนาญ หากสนใจก็สามารถเสาะหาข้อมูลดูในโลกออนไลน์ดูได้ว่า...บริษัทประกันไหนบ้างที่มีประกันชีวิตแบบบำนาญให้บริการอยู่


“ประกันชีวิตแบบบำนาญ”
...จะเน้นไปในเรื่องเงินที่ได้หลังเกษียณเป็นหลัก เรื่องความคุ้มครองอาจจะเป็นประเด็นรองลงไป โดยผู้ลงทุนก็จะจ่ายชำระเบี้ยประกันตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น ครั้งเดียวจบ หรือทยอยจ่ายไปเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งตามที่ระบุไว้ เป้าหมาย คือ เมื่อถึงวันที่คุณเกษียณประกันก็จะจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินบำนาญให้กับคุณตามที่ระบุไว้ในกรรมธรรม์ เช่น จ่ายครั้งเดียว หรือทยอยจ่ายเป็นงวดๆ ไปจนกว่าครบอายุกรมธรรม์ ขึ้นกับแบบประกันของแต่ละบริษัทเป็นสำคัญ


“สำหรับประกันแบบบำนาญต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองเกิน 10 ปีขึ้นไป มีการจ่ายเงินผลประโยชน์คืนทุกปี ตั้งแต่ตอนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี หลังจากจ่ายเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว โดยเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี แต่ ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี  และเมื่อรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอื่น ทั้งกอง RMF, PVD ,กบข. , และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ต้องรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี


ใครที่กำลังวางแผนจะเก็บเงินเพื่อเกษียณ... “3 แหล่ง-สุดคุ้ม” ที่รัฐส่งเสริมโดยให้ประโยชน์ทางภาษีมาไว้เป็นกำลังใจนี้ ถือเป็นเป้าหมายในการเก็บเงินที่ตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว