Hightlight
- TMB Analytics มองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้
- แม้ผลการประชุมเฟดครั้งล่าสุดจะชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้ ไทยก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ยตาม เหตุเพราะดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงไทยแทบจะต่ำที่สุดในอาเซียนแล้ว
- และถึงแม้จะยังสูงกว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงของเฟด ก็ถือว่าสอดคล้องกับอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของไทยที่อยู่ต่ำกว่าของสหรัฐฯถึง 6 ระดับ
TMB Analytics มองว่าแม้ผลการประชุมเฟดครั้งล่าสุดจะชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยได้ถึงสองครั้งในปีนี้ ไทยก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ยตาม เหตุเพราะดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงไทยแทบจะต่ำที่สุดในอาเซียนแล้ว และถึงแม้จะยังสูงกว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงของเฟด ก็ถือว่าสอดคล้องกับอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของไทยที่อยู่ต่ำกว่าของสหรัฐฯถึง 6 ระดับ
จากการประชุมเฟดล่าสุด สมาชิกที่คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ มีจำนวนถึง 8 จากทั้งหมด 17 คน เทียบกับการประชุมครั้งก่อนที่ไม่มีการประเมินว่าจะลดดอกเบี้ยเลย ยิ่งไปกว่านั้น 7 ใน 8 คนยังมองว่าจะลดดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งภายในปีนี้ โดยมีแรงกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อที่เฟดยอมรับว่าจะอยู่ในระดับต่ำและอาจกลับเข้าเป้าหมาย 2% ไม่ทันปี 2020
ขณะที่ตลาดแรงงานที่เป็นจุดแข็งของสหรัฐฯก็เริ่มแสดงสัญญาณอ่อนแอด้วยเช่นกัน อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเฉลี่ย ห้าเดือนแรกปีนี้มีเพียง 164,000 คน เทียบกับเฉลี่ย 229,800 คน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ TMB Analytics มองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้
ซึ่งไม่ใช่แค่เฟดที่ปรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อีกหลายประเทศก็หั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว อย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอย่าง มาเลเซียและฟิลิปปินส์ จึงอาจเริ่มมีประเด็นว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และธปท.ควรปรับดอกเบี้ยนโยบายลงตามประเทศอื่นๆ หรือไม่
แน่นอนว่าหากเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า โดยคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายหักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย จะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.67% สูงกว่าของสหรัฐฯ ที่ 0.23% อย่างไรก็ตาม ระดับดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating ของประเทศแล้ว
เพราะโดยปกติประเทศที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าหรือมีความเสี่ยงมากกว่าก็ควรให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อชดเชยความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งไทยถูกจัดอันดับความน่าเชื่อที่อยู่ที่ระดับ BBB+ ต่ำกว่า AA+ของสหรัฐฯ ถึง 6 ระดับ จึงถือเป็นเรื่องปกติที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยจะอยู่สูงกว่าของสหรัฐฯ
อัตราดอกเบี้ยไทยเกือบต่ำสุดในภูมิภาค
แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนที่การจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยเรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่แทบจะต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว โดยสูงกว่าฟิลิปปินส์เพียงประเทศเดียวที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ -0.46% ในขณะที่ 3 ประเทศที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงอยู่ที่ระดับสูงถึง 3.0% 2.8% และ 2.6% ตามลำดับ
ดังนั้น TMB Analytics มองว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอื่นๆ ยังไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เสถียรภาพระบบการเงินยังเปราะบางจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลง เพราะการลดดอกเบี้ยอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว