สิ้นสุด ‘ตลาดหมี’…ถึงเวลา “กระทิงทอง” หักด่าน 1,550 ดอลล์ ครึ่งปีหลัง

>>

“ทองคำ” เข้าสู่ภาวะ หมีจำศีล มายาวนานกว่า 8 ปี นับตั้งแต่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในวันที่ 5 ก.ย. 11 ที่ระดับ 1,898.99 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะเข้าสู่ตลาดหมีอย่างต่อเนื่องมายาวนาน


ในช่วง 3 ปีหลัง
มานี้ ทองคำ มีความพยายามที่จะตื่นจากหลับใหลเช่นกัน โดยเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway ระหว่าง 1,200 –1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ทำ จุดสูงสุด และ ต่ำสุด อย่างละ 3 ครั้ง นักลงทุนสายเทคนิคก็ต้องลุ้นกันว่าสุดท้ายทองคำจะเลือกเดินทางไหน?


แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะเป็นใจให้ ในวันที่ 20 มิ.ย. 19 ราคาทองก็ตีหักแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้สำเร็จ พร้อมกับทำลายกำแพงของ ตลาดหมี ของทองลงอย่างราบคาบ หลังราคากระชากผ่านแนวต้าน1,375 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขาดสะบั้นไปเรียบร้อยแล้ว


และยังเดินหน้าพุ่งทะยานทำ จุดสูงสุดในรอบ 6 ปี ถือเป็นการสิ้นสุดยุค หมีจำศีล พร้อมกลายร่างสู่ “กระทิงทอง” อย่างเต็มตัว!!!

 


ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าตลาดการเงินโลก...ปลุก “กระทิงทอง” ตื่น


ช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตลอดจนผลตอบแทนจากการลงทุนใน ตลาดหุ้น ที่ดี เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันราคา ทองคำ เอาไว้ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า ปัจจัยเสี่ยง ที่รุมเร้าเข้ามาในตลาดการเงินโลกพร้อมๆ กัน ล่าสุดก็ความตึงเครียดทางการทหารระหว่าง สหรัฐกับอิหร่าน จะกลับกลายมาเป็นปัจจัยหนุนราคาทองให้ตื่นขึ้นมาในที่สุด


บทวิเคราะห์ของ “สภาทองคำโลก (World Gold Council)” ระบุว่า เมื่อปัจจัยเสี่ยงในโลกมีมากขึ้น บทบาทของทองในแง่ของ สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)’ ก็กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาถือเป็นอีกครั้งที่หุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักนับตั้งแต่เจอแรงเทขายหนักไปในช่วงปลายปี18 และยังต่อเนื่องมาถึงเดือนมิ.ย. นี่เป็นผลกระทบใหญจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ตลอดจนการขยายการเก็บภาษีไปยังประเทศอื่นๆ


“บรรยากาศของการ หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk-0ff)’ หนุนให้ ทอง ดูโดดเด่นยิ่งขึ้นในฐานะ สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เพราะการเคลื่อนไหวของราคา ทอง กับ หุ้น มีความสัมพันธ์กันต่ำนั่นเอง”

 


มอง
“ทอง” ครึ่งปีหลัง ‘Outperform’…รับ FED หั่นดอกเบี้ย-นักลงทุนหนีความเสี่ยง


“ตลาดตราสารหนี้โลก”
ก็กังวลต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวลดลง พันธบัตร 10 ปีเยอรมัน ‘All Time Low’ หรือ Inverted Yield Curve ในพันธบัตรอายุ 3 เดือน/10 ปี ของสหรัฐ ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงลบนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบก่อน ในขณะที่ส่วนต่างผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐ 2 ปี/10 ปีก็แคบลงเรื่อยๆ ทั้งหมดทำให้ความน่าจะเป็นที่ ‘ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)’ จะปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้พุ่งสูงขึ้นเกือบ 100% ซึ่งตลาดตราสารหนี้สหรัฐก็รับข่าวคาดการณ์ปรับลดดอกเบี้ยของ FED ในปีนี้ 2-3 ครั้งไปแล้ว รอเพียงแค่การยืนยันสิ่งที่ตลาดคาดจาก FED เท่านั้นเอง

“นักวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของทองจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า (Outperform) เมื่อ FED ปรับนโยบายการเงินจากที่เข้มงวดเข้าสู่ความเป็นกลางหรือมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น นั่นจะสนับสนุนผลตอบแทนของ ‘ทอง’ ให้ Outperform ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี19 นอกจากนี้เม็ดเงินที่ไหลเข้า ‘กองทุน ETF-ทองคำ’ ก็ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ค.ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงบรรยากาศของการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในท้ายที่สุด”



เงินไหลเข้า “กอง
ETF-ทอง”...มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


ข้อมูลของ “สภาทองคำโลก” ยังระบุถึงเงินที่ไหลเข้า กอง ETF-ทอง ในเดือนพ.ค.19 มีการไหลออกเล็กน้อย 2.2 ตัน มาอยู่ที่ 2,421 ตัน หรือคิดเป็นเงินไหลออกประมาณ 141 ล้านดอลลาร์ โดยมีเงินไหลเข้ากอง ETF-ทองใน ยุโรป เป็นส่วนใหญ่กว่า 15.9 ตัน หรือประมาณ 627 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ไหลออกจาก อเมริกาเหนือ และ เอเชีย  13.7 ตัน และ 4.1 ตัน ตามลำดับ


“อย่างไรก็ตามการถือครองทองคำเป็น สินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะมีการถือครองเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่ยังมีการถือครองน้อยจะเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการลงทุนใน ‘กอง ETF-ทอง’ เพิ่มขึ้นในอนาคต”

           
เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์ของ บจ.วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล” ระบุว่า ดีมานด์การลงทุนในทองคำเพิ่มของ ‘กอง ETF-ทอง’ โดยเฉพาะ กอง SPDR’ กอง ETF-ทองที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำในอนาคต เหมือนที่น่าจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเดือนมิ.ย.ด้วยเช่นกัน


‘กอง SPDR’ ได้ซื้อทองอย่างหนักถึง 2 ครั้งในช่วงเดือนมิ.ย.

  • ครั้งแรก เกิดขึ้นต้นเดือน ในวันที่ 3 มิ.ย. 19 ‘กอง SPDR’ ถือทองคำเพิ่มมากถึง 16.44 ตัน ระหว่างนั้นทองคำก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ทรงตัวเหนือ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง และปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหลังจากนั้นมา

  • ครั้งที่2 เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิ.ย. 19 ‘กอง SPDR’ ซื้อเพิ่มมากถึง 1.12 ล้านออนซ์ หรือ 34.93 ตัน ซึ่งเป็นระดับการถือครองทองคำที่เพิ่มขึ้นในวันเดียวมากที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 09 เลยทีเดียว และส่งผลให้ราคาทองในวันดังกล่าวปิดไม่ไกลจากระดับ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์

       
“หลังจากนี้ราคา ทองคำ จะมีทิศทางเป็นอย่างไร ตัวแปรสำคัญที่อาจต้องกลับมาโฟกัสมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ กระแสเงินทุนที่ไหลเข้า กอง SPDR’ ด้วยเช่นกัน

 


ลุ้น
ทองคำหักด่าน 1,550 ดอลล์...ในครึ่งปีหลัง


TakiTsaklanos” แห่ง investinghaven.com ที่มีประสบการณ์ 15 ปี ในตลาดการลงทุนโลก มองว่า ในช่วงเม.ย. ที่ราคาทองปรับลงนั้นเราก็เชื่อว่าจะไม่หลุด 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยให้เป้าหมายราคาทองคำในปีนี้ไว้ที่ 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรายังคงเป้าหมายเดิมในปีนี้ การที่ราคาทองคำกลับมายืนเหนือ 1,375 ดอลลาร์ต่อออนซ์นั้น เป็นการทำลายกำแพงของ 'ตลาดหมี' ที่กินเวลายาวนานมากกว่า 8 ปี ลงไป และกลายเป็น ‘ตลาดกระทิงอย่างเข้มข้น’ ด้วยการปรับขึ้นอย่างรุนแรงในวันที่ 20 มิ.ย. 19 ที่ผ่านมา


“ปี19 เงินส่วนใหญ่ไหลเข้าไปลงทุนในหุ้น ,พันธบัตรสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ แต่หลังจากทองเริ่มขยับขึ้นในช่วงปีนี้ นักลงทุนก็กระโจนเข้ามาลงทุนในทองกันอย่างมากจนทำลายสภาพของ ‘ตลาดหมี’ ลงไป สะท้อนว่าเงินทุนย่อมต้นพบทางของตัวเองในการมองหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่างทองคำ แม้หลังจากนี้ราคาทองคำอาจจะปรับตัวลงไปบ้างก็ถือเป็นเรื่องของฤดูกาล แต่ด้วยนโยบานการเงินที่เปลี่ยนแปลงเป็นผ่อนคลายมากขึ้นจะปูทางให้ราคาทองสามารถไปถึงเป้าหมายที่ 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. นี้”


เช่นเดียวกับ Credit Suisse’ และ JPMorgan ที่มองว่าครึ่งหลังของปี19 จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของ ‘ทองคำ’ โดยนักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ Credit Suisse มองว่า ราคาทองคำได้สร้างฐานมาแล้วในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา และมีโอกาสที่ราคาทองจะพุ่งสูงขึ้นต่อจากนี้ จนอาจพุ่งไปถึงจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 1,921 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้เลยทีเดียว
นั่นหมายความว่า หากคุณเพิ่งเข้าลงทุนมีต้นทุนที่ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์


>>>
เป้า 1,550 ดอลลาร์>>>คิดเป็นผลตอบแทน 10.71%

>>>เป้า 1,921 ดอลลาร์>>>คิดเป็นผลตอบแทน 37.21%


“หากคุณมีต้นทุนต่ำกว่านั้น ถ้าคุณเชื่อตามมุมมองนี้ การถือไปรอขายก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ”


ในขณะที่โบรกเกอร์ในไทยส่วนใหญ่มองไม่ต่างกันโดยมองว่า ‘ทองคำ’ ปรับตัวขึ้นรับรู้ข่าวบวกเรื่อง FED ไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีแนวต้านระยะใกล้ที่ 1,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากมีการทดสอบอาจจะมีช่วงชะลอการขึ้นในระยะสั้นได้ แต่ในระยะกลางแนวต้านแรกยังคงประเมินไว้ที่ 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยแนะนำให้เล่นรอบตามแนวโน้มขาขึ้นของทองคำ


ด้าน “บจ.เอ็มทีเอส โกลด์” แนะนำว่า หลังราคาทองคำทำ จุดสูงสุดใหม่แถว 1,395 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี โดยภาพรวมทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง และดูเหมือนจะไม่มีแนวต้านเท่าไหร่ทางด้านภาพทางเทคนิคมีการ ‘Breakout’ ออกจาก ‘W Shape’ ของทองคำจึงดูจะทำให้คาดการณ์ราคาทองคำดีดขึ้นไปจาก W Shape ได้ถึง 130 ดอลลาร์ หรืออาจจะขึ้นไปได้ถึง 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใน ระยะยาว


“ทองระยะสั้นมีแนวรับ 1,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้าน 1,439 ดอลลาร์ต่อออนซ์”


ส่วน บจ.วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล” แนะนำว่า ให้รอ จังหวะเข้าซื้อบริเวณแนวรับ 1,422-1,411 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,411 ดอลลาร์ต่อออนซ์) และนักลงทุนที่มีทองคําในมืออาจขาย บางส่วนหากราคาทองคําขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,439-1,447 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาผ่านบริเวณแนวต้านดังกล่าว อาจชะลอการขายไปยังโซนแนวต้านถัดไป


“อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังจําเป็นต้องประเมินขนาดการลงทุนในแต่ละรอบ เพื่อที่จะสามารถคํานวณความเสี่ยงในการลงทุนในแต่ละครั้งให้อยู่ในขนาดที่พอร์ตการลงทุนสามารถแบกรับได้ด้วย ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน หากไม่สามารถทะลุผ่านกรอบบนที่ 1,439 -1,447 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจกลับลงมาโซน 1,422 -1,411 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากทะลุกรอบบนก็มีโอกาสขึ้นทดสอบแนวต้านถัดไป”


ความน่าสนใจของ “ทองคำ” แม้จะมีมากขึ้น แต่ยังคงต้องมองในมุมของสินทรัพย์ทางเลือก เพื่อช่วยในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงเป็นสำคัญ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย