“บาทแข็ง”...เขย่านโยบายดอกเบี้ย ‘แบงก์ชาติ’

>>

“ค่าเงินบาท”...ยังคงเดินหน้า แข็งค่า อย่างต่อเนื่อง จนทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีไปแล้ว ล่าสุด (2 ก.ค. 19) อยู่ที่ 30.65 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงต้นปี 5.05% และยังมีแนวโน้มว่ายังคงจะแข็งค่าขึ้นได้อีกในช่วงครึ่งปีหลัง

 


“บาทแข็ง”...แรงกดดันนโยบายดอกเบี้ย
แบงก์ชาติ


“พงค์ธาริน ทรัพยานนท์”
หัวหน้าฝ่ายการลงทุน-ตราสารหนี้ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมาเร็วมาก แม้จะบอกว่าทุกประเทศก็แข็งค่าขึ้นเหมือนกันแต่เงินบาทเราแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นมาก ทั้งเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์และเมื่อเทียบกับค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ด้วยกันเอง ตั้งแต่ต้นปีแข็งค่ามาแล้วประมาณ 5% ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในดัชนีสำคัญที่ทาง แบงก์ชาติ (BOT)’ ใช้ในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ล่าสุดทางแบงก์ชาติก็เพิ่งปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.8%


เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มจะชะตัวมาก ทั้งจากผลกระทบจากสงครามการค้าตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบภาคส่งออก ตลอดจนภาคท่องเที่ยวให้ชะลอตัวลง เพราะมาเที่ยวไทยแล้วค่าใช้จ่ายแพงขึ้น


“โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโต ต่ำกว่า 3%’ ก็มี และคงต้องดูว่าบาทจะแข็งค่าไปอีกมากแค่ไหน ถ้ายังแข็งต่อในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า ก็มีโอกาสสูงที่แบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยลงจาก 1.75% ในปัจจุบัน มาอยู่ที่ 1.5% ถ้าจะเกิดขึ้นคงเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่4/19 อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติเองก็มีเครื่องมืออื่นที่จะใช้เพื่อดูแลเศรษฐกิจ เพราะการทำให้ดอกเบี้ยต่ำอาจจะส่งผลไปถึงหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันก็ทรงตัวในระดับที่สูงอยู่แล้ว แบงก์ชาติก็อาจจะไปผ่อนคลายมาตรการคุมอสังหาริมทรัพย์ (LTV) ได้เช่นกันโดยไม่ต้องลดดอกเบี้ย เป็นต้น เป็นการใช้นโยบายเฉพาะจุดไป”

 

 

แนะรัฐใช้โอกาส บาทแข็ง’…เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน


ด้าน “อดิเทพ วรรณพฤกษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นก็มีทั้งผู้ที่ เสียประโยชน์เช่น กลุ่มผู้ส่งออก และมีผู้ที่ ได้ประโยชน์ เช่นกัน ประเทศไทยเรามีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อยู่มากหากใช้จังหวะ ‘บาทแข็ง’ เร่งลงทุนในโครงการที่จำเป็นก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจากความได้เปรียบในการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ  ในมุมของ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในไทยช่วงหนึ่งที่เข้ากันมานั้นก็มาเอา กำไรค่าเงิน ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน เหล่านี้เป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่าคงไม่ใช่มีแต่ด้านที่เสียเพียงอย่างเดียว

           
“ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้แนวโน้มชะลอตัวลง อย่างน้อยก็คงถึงไตรมาสที่3/19 เพราะไตรมาส1-2 ที่ผ่านมา อยู่ในช่วงเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลและน่าจะกินเวลามาถึงช่วงไตรมาสที่3 หากจะมีการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ ออกมาก็คงจะเข้ามาในช่วงไตรมาสที่4/19 แล้ว”

           
แม้เศรษฐกิจไทยอาจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ในแง่ของการลงทุนก็ยังคงมีบริษัทจดทะเบียนที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีให้ลงทุนได้เช่นกัน โดยยังชอบหุ้นที่จ่าย ปันผลสูง อย่างน้อยควรจ่ายเท่ากับตลาดหรือมากกว่าตลาดได้ ก็ยังมีหุ้นกลุ่มนี้ให้เลือกลงทุนได้ รวมถึงกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วยแต่ก็ต้องเลือกเป็นรายหลักหลักทรัพย์ไปเช่นกัน

           
สำหรับคนไทยในช่วง ‘บาทแข็ง’ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพาเงินบาทติดปีกกระจายเงินไปลงทุนต่างประเทศได้เป็นอย่างดี อย่าลืมว่า...ในทุก ‘วิกฤติ’ ย่อมมี ‘โอกาส’ รออยู่เสมอ