“ภาษีในชีวิตประจำวัน”...ที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจ ‘คลาดเคลื่อน’ (2)

>>

คราวที่แล้ว ผู้เขียนได้อธิบายถึงข้อมูลของ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่คนทั่วไปอาจจะสับสน หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอัตราการเรียกเก็บไปแล้ว ในคราวนี้จะนำเสนอตัวอย่างเรื่องที่ 2 นั่นคือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการชิงโชค”


“การชิงโชค”
หรือ “เสี่ยงโชค” นั้น อาจเป็นเรื่องที่องค์กรหรือบุคคลจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้าของตนเอง หรือ เกิดจากความต้องการช่วยเหลือของรัฐ ผ่านการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ บุคคลเสี่ยงโชคเอาเองผ่านการพนันนอกระบบ เช่น หวยใต้ดิน หวยออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไปเป็นปกติ แต่ไม่ค่อยให้ความสนใจเกี่ยวกับภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐมากนัก


“ส่วนหนึ่งคิดว่าโอกาสได้รางวัลมีน้อย ถ้าได้เมื่อไหร่ค่อยศึกษา หรือ คิดว่าไม่เห็นต้องจ่ายภาษีเลย รัฐไม่มีทางรู้ว่าเรามีเงินก้อนนี้ หรือ เข้าใจผิดว่า ถ้าชิงโชคแล้วได้รางวัลมา องค์กรหรือบุคคลที่จัดการชิงโชคนี้จัดการเรื่องภาษีให้เราเรียบร้อยแล้ว คนได้รับรางวัลไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมอีก”


“เงินได้จากการชิงโชค”
หรือ “เสี่ยงโชค” สำหรับคนทั่วไปนั้น ในทางกฎหมายจัดเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา ประเภท 8 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ซึ่งเงินได้ประเภทนี้มีข้อกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักได้ต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น ไม่สามารถหักแบบเหมาจ่ายได้ และถ้ามีเงินได้ช่วง 6 เดือนแรกของปี (มกราคม - มิถุนายน) จะต้องยื่นแบบ ภงด.94 ภายในสิ้นเดือนกันยายนของปีนั้น ๆ ด้วย บทความนี้จะสรุปประเด็นเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการชิงโชคให้ผู้อ่านรับทราบ ดังนี้

 


ชิงโชคมาได้ หักภาษี ณ ที่จ่ายเสร็จแล้ว ยังต้องเสียภาษีอีกหรือ?



โดยทั่วไปองค์กรหรือบุคคลที่จะจัดการชิงโชค ต้องดำเนินการขออนุญาตหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนจะจัดกิจกรรมชิงโชคขึ้น และองค์กรหรือบุคคลนั้นมีหน้าที่จะต้องทำเรื่องหักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวน 5% ของมูลค่ารางวัลจากผู้ได้รับรางวัล หากรางวัลที่ได้รับนั้นมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป แล้วนำส่งกรมสรรพากร


การหักภาษี ณ ที่จ่ายกรณีนี้ไม่ใช่ ภาษีสุดท้าย (Final Tax) ผู้ได้รับรางวัลจึงต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ได้รับทั้งจำนวน มารวมเป็นรายได้ของปีภาษีนั้น ๆ แล้วคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง


“หากจำนวนภาษีทั้งปีที่ต้องจ่ายให้รัฐ มากกว่าจำนวนภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไว้ (จากการได้รางวัลชิงโชค) ผู้ได้รับรางวัลมีหน้าที่จ่ายภาษีส่วนที่ขาดอยู่เพิ่มเติม ในทางกลับกัน หากจำนวนภาษีทั้งปีที่คำนวณได้ น้อยกว่าจำนวนภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไว้ ผู้ได้รับรางวัลสามารถขอภาษีที่จ่ายไว้เกินนี้กลับคืนได้เช่นกัน”


ทั้งนี้การที่มูลค่ารางวัล ไม่ถึง 1,000 บาท แล้วองค์กรหรือบุคคลที่จัดการชิงโชคไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ได้หมายความว่าผู้ได้รางวัลจะไม่ต้องเสียภาษีจากการชิงโชคในครั้งนี้แต่อย่างใด ผู้ได้รับรางวัลยังจำเป็นต้องนำมูลค่ารางวัลที่ ไม่ถึง 1,000 บาท นี้ มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติเช่นเดียวกับการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว


“สรุป ถ้าชิงโชคได้รางวัลมา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย จะหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ทั้งหมด”


ผู้เขียนยังมีประเด็นที่น่าสนใจ และเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านอยากจะทราบ ถึงภาระภาษีที่เกี่ยวข้องจากการได้รับเงินรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาล และหวยใต้ดิน ซึ่งผู้เขียนขอยกยอดไปในบทความตอนที่ 3 ครั้งนี้จบไม่ลงจริงๆ เนื่องจากต้องอธิบายอีกพอสมควร และเรื่องเด็ดต้องขอเก็บไว้ปิดท้ายบทความ


(อ่านบทความตอนที่1 ได้ที่.... https://bit.ly/2XuUNXL)


ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่
LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th

YOU MIGHT ALSO LIKE