ก.ล.ต. เตรียมปรับเกณฑ์เทอมฟันด์ (term fund) ปกป้องความเสี่ยงผู้ลงทุน และไม่สับสนกับเงินฝาก

>>

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกองทุนที่มีกำหนดอายุโครงการหรือ เทอมฟันด์ เพื่อให้กองทุนดังกล่าวมีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนมากขึ้น ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอและเหมาะสมในการประกอบการตัดสินใจลงทุน และไม่เข้าใจผิดว่าการลงทุนในเทอมฟันด์เป็นการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์


ปัจจุบันเทอมฟันด์ได้รับความนิยมสูงจากทั้งผู้ลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และธนาคารพาณิชย์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 7.7 แสนล้านบาท โดยเป็นกองทุนที่ขายผู้ลงทุนรายย่อยในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 96 ของเทอมฟันด์ทั้งหมด ทั้งนี้ กองทุนประเภทดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะที่ผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุกองทุนรวม และอาจมีความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัวในตราสารที่ออก โดยผู้ออกรายใดรายหนึ่ง หากเกิดปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสารรายใดรายหนึ่งในพอร์ตการลงทุนของกองทุนรวม จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมลดลงมาก และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมกองทุนรวมในวงกว้างได้


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงมีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเทอมฟันด์ อาทิ การปรับลดเพดานอัตราส่วนการลงทุนของเทอมฟันด์เพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail term fund) ในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากจากผู้ออกรายใดรายหนึ่ง (single entity limit) เหลือร้อยละ 10 จากเดิมร้อยละ 20 และเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (factsheet) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอและเหมาะสมในการประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยไม่เข้าใจว่า เทอมฟันด์เป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ และเป็นการลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยง รวมทั้งให้แสดงแถบมิติสะท้อนความเสี่ยงแปรผันตามการลงทุนที่กระจุกตัวในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น การลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมหนึ่งมากกว่าร้อยละ 80 ของพอร์ตการลงทุน ถือว่ามีความเสี่ยงสูง อีกทั้งกำหนดให้ระบุคำเตือนหน้าสมุดบัญชีแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน

ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th
ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรสาร 0-2033-9660 หรือทาง e-mail [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2562