ธปท. คาดเริ่มใช้เกณฑ์คุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ก.พ.นี้

>>

ธปท. คาดเกณฑ์คุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ประกาศลงราชกิจจาฯ - มีผลบังคับใช้ ก.พ.นี้  ประเมินจะมีผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจมากกว่า 100 ราย กำหนดเพดานดบ.ที่ 28% ต่อปี  หวังสร้างความเป็นธรรมผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค คาดช่วยแก้หนี้นอกระบบได้อีกทางหนึ่ง 
 
นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจง การกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันว่า ในปัจจุบัน พบว่า มีผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนจำนวนมาก และจากการสำรวจยังพบว่าบางส่วนไม่มีมาตรฐานด้านการดูแลลูกค้า สัญญาเงินกู้ไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมแอบแฝง คิดดอกเบี้ยสูงเกินกำหนด ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชน รวมถึงตัวผู้ประกอบการเอง นอกจากนี้การกำกับดูแลดังกล่าวนั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน   ดังนั้น ธปท. จึงได้แก้ไขกฎหมายให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าว อยู่ภายใต้การกำกับของธปท. เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยธปท.ได้ร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจดังกล่าว จะต้องเข้ามาขอใบอนุญาตจากธปท. ภายใน 60 วัน จากนั้นธปท.จะใช้เวลาในการพิจารณา 120 วัน โดยจะเสนอชื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติต่อ โดยเบื้องต้น ธปท.คาดการณ์ว่า จะมีผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจมากกว่า 100 ราย  สำหรับปัจจุบันสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์มีผู้ใช้บริการประมาณ 3 ล้านราย มียอดคงค้างสินเชื่อ 300,000 ล้านบาท   

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นขอใบอนุญาตภายใต้ไลน์เซน Personal Loan จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ไม่กำหนดวงเงินสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับมูลค่าหลักประกัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยกำหนดเพดานที่ 28% ต่อปี ซึ่งรวมค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้นค่าทวงถามหนี้ที่คิดได้ตามจริง นอกจากนี้ผู้ประกอบการห้ามคิดค่าธรรมเนียม  Prepayment Fee หากลูกค้านำเงินมาปิดบัญชีล่วงหน้า ผู้ประกอบการต้องยอมให้จ่าย แล้วปิดหนี้กันไป/ ต้องคืนส่วนต่างจากการขายหลักประกัน ที่ได้เกินมูลค่า/ กรณีผิดนัดชำระหนี้ ให้คำนวนเงินต้นคงเหลือเท่านั้น/ ซึ่งหากผู้ประกอบการทำผิดหลักเกณฑ์จะมีโทษตั้งแต่เปรียบเทียบปรับจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต 

ส่วนผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตสินเชื่อบุคคลอยู่แล้วนั้น จะต้องยื่นแบบการขอประกอบธุรกิจ รายงานการประชุมคณะกรรมการ ที่มีมติให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน รวมถึงการสรุปการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น ขณะที่ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต จะต้องยื่นแบบฟอร์มการขออนุญาต เอกสารแสดงงบและฐานะทางการเงิน สรุปการดำเนินธุรกิจ เพื่อประกอบการพิจารณา เป็นต้น

ที่มา: www.bot.or.th/