ในวงสนทนาไม่ว่าวงไหน เวลาคุยกันถึงเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า เกือบจะร้อยทั้งร้อยจะบอกทำนองเดียวกันว่า "โอ๊ยอีกนานกว่ามันจะมา"
แล้วจากการสังเกตการณ์ จากการสืบเสาะข้อมูล ของลุงสายลับ ทัศนคติแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะชาวบ้าน เท่านั้นนะ แม้แต่คนที่อยู่ในวงการรถยนต์วงการแบตเตอร์รี่ นักการเมือง ส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนี้
จะขอบอกว่าเวลามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบ หรือในยุคนี้เรียกกันว่า ดิสรับชัน มันมักจะมีความเสียหายหรือผลกระทบที่รุนแรงเสมอ เพราะบางครั้งมันจะมาเร็วมากๆโดยเฉพาะในเรื่องของนวัตกรรม มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมายอย่างเช่น ฟิล์ม และกล้อง Kodak โทรศัพท์ Nokia งี้เป็นต้น อันนี้ไม่ใช่คนระดับชาวบ้านไม่ตระหนักรู้นะแต่เป็นระดับเจ้าของกิจการผู้บริหารระดับโลกเลยนะที่เข็มขัดสั้น คาดไม่ถึง ไม่ยอมปรับตัวจนถึงขั้นสูญพันธ์กันเลยทีเดียว
แต่กับเรื่องรถไฟฟ้า EV (Electrical Vehicle) นี่ลุงอยากจะบอกว่าหลายประเทศในโลกนี้เขามีการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงกันไปมากพอสมควรแล้ว แต่แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายๆค่ายในโลกนี้ รู้อยู่เต็มอกแล้วว่าในที่สุดรถไฟฟ้าจะต้องมาแทนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบเผาใหม้ภายในหรือพูดง่ายๆก็คือรถยนต์ใช้นํ้ามัน ภายในไม่เกินห้าปีสิบปีนี้ สิ่งที่หลายค่ายทั้งค่ายยุโรปและญี่ปุ่นทําอยู่เวลานี้ก็คือ "การถ่วงเวลา"
เพราะอะไรจึงต้องถ่วงเวลา ก็เพราะค่ายรถใหญ่ๆระดับโลกอย่าง Toyota Honda นี่มีสต๊อกชิ้นส่วน อะไหล่ รถและเครื่องยนต์ มหาศาลเพราะมีโรงงานและที่เรียกกันว่า Supply Chain ทั่วโลก รวมทั้งในเมืองไทยเราด้วย ลองนึกภาพดูว่าถ้าโลกนี้หันไปใช้รถไฟฟ้า EV อะไรจะเกิดขึ้น หนึ่งศูนย์บริการ ศูนย์ซ่อมจะต้องปิดตัวไปจํานวนมาก สองช่างยนต์ ก็จะตกงานตามมา สามโรงงานผลิตชิ้นส่วนจํานวนมากก็จะต้องปิดกิจการคนงานก็จะตกงาน เพราะชิ้นส่วนของรถยนต์ใช้เครื่องยนต์มีถึง 30,000 ชิ้นในขณะที่รถ EV มีประมาณ 3,000 อย่างมาก ในส่วนของเครื่องยนต์มี 200 ส่วนของ EV มีไม่ถึง 20 ชิ้น
ที่ว่าถ่วงเวลานี่หากเราสังเกตจะเห็นว่าค่ายรถใหญ่ๆไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรือยุโรปจะพยายามทํารถไฮบริด ออกมาขายไม่พยายามทํา EV ออกมาขาย ส่วนค่ายยุโรปอย่าง Benz, BMW เราจะเห็นตอนนี้ลดแลกแจกแถมรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลกันแทบทุกรุ่นทุกที่เพื่อระบายสินค้ามาให้บ้านเราเพราะว่าบ้านเขามีนโยบายเลิกใช้รถยนต์ดีเซลเตรียมไปใช้รถไฟฟ้าแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ลุงสายลับได้ยิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท FOMM ในไทยสัญชาติญี่ปุ่น นาย Hideo Tsurumaki แสดงความเป็นห่วงถึงอนาคตของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นว่าปรับตัวช้าเกินไปเมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยเฉพาะจีน นาย Hideo นี่แกเคยทํางานกับทั้ง Toyota และ Honda มาก่อนจะมาร่วมงานกับ สตาร์ทอัพรถ EV จากญี่ปุ่นที่มาลงทุนเป็นพันล้านในการสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในไทยที่นิคมอมตะ และเริ่มจําหน่ายรถ EV ขนาดเล็กที่ไม่กลัวนํ้าท่วมเพราะลอยนํ้าได้แล้วในปีที่ผ่านมา FOMM ไม่ธรรมดาเพราะกําลังพัฒนารถ EV แบบไม่ต้องมีคนขับอยู่ และบริษัทบ้านปูก็คงเห็นถึงอนาคตจึงได้ตัดสินใจขอซื้อหุ้น FOMM ไป 21.5% เมื่อไม่นานมานี้
ทีนี้มาดูกันว่าทําไมจีนจึงไปได้เร็วมากในการพัฒนาและผลิตรถ EV เพื่อเป็นผู้นําของโลก มันก็มาจากหลายปัจจัย แต่ที่สําคัญคือจีนแทบจะเรียกได้ว่าเริ่มต้นอุตสาหกรรมรถจากรถไฟฟ้า EV เลยโดยไม่ต้องรอปรับตัวแบบค่ายรถประเทศอื่นและรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเต็มที่ออกนโยบายหลายอย่างโดยเฉพาะสิทธิพิเศษทางภาษีออกมาตรการอย่างเช่นในแต่ละเมืองต้องมีรถเมล์ EV กี่เปอร์เซนต์เป็นต้น ตอนนี้ เมืองหลวงของรถ EV ในจีนอยู่ที่เชินเจิ้น เมืองนี้รถเมล์เป็นEV ทั้งหมด บริษัทผลิตรถ EV ชื่อ BYD ที่เป็นรองก็แต่ Tesla ก็อยู่ที่นี่ คนจีนนี่บริโภครถไฟฟ้าไปถึง 35% ของยอดการผลิตในโลก ยอดขายในจีนปีนี้น่าจะถึงล้านคันครับผม คนจีนใช้รถสองล้อไฟฟ้าอยู่ 250 ล้านคันเวลานี้ประมาณ 99% ของโลก
ทีนี้มาดูถึงตัวแปรสําคัญที่จะทําให้รถยนต์ใช้พลังงานฟอสซิลที่จะถูกทดแทนด้วยรถ EV อย่างรวดเร็วจนไม่น่าเชื่อและคนส่วนใหญ่มองข้ามก็คือเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ล่าสุดนี่มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Ultracapacitor ซึ่งสามารถชาร์จไฟได้เร็วกว่าปล่อยกระแสไฟได้เร็วกว่าลิเทียมไอออนแบตเตอรี่มาก ข้อสําคัญคือถูกว่าและไม่ติดไฟ ชาร์จได้ล้านครั้งเทียบกับแบตธรรมดาได้สามพันครั้งตอนนี้ แต่ข้อด้อยของมันคือเก็บไฟได้น้อยกว่าในขนาดที่เท่ากัน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทผลิตรถ EV อันดับหนึ่งของโลกTesla ของ Elon Musk ได้ใช้เงิน $218 ล้าน เข้าซื้อ Maxwell Technologies ซึ่งเป็นผู้ ผลิต Ultracapacitor เพื่อเอามาใช้ร่วมกับแบต ในรถ Tesla เพื่อให้รถมีอัตราเร่งที่แรงขึ้น เก็บไฟได้มากและเร็วเวลารถชะลอความเร็ว นี่เป็นการมองการณ์ไกลมากเพราะ Ultracapacitor มันกําลังมีการพัฒนาต่อยอดโดยใช้วัสดุ
ที่เรียกว่าแกรฟีน (Graphene) หรือ กราฟีน เป็นรูปแบบหนึ่งของผลึกคาร์บอน มาจากกราไฟท์ ที่จะทําให้ Ultracapacitor เก็บไฟได้มากขึ้น ถ้าสําเร็จเมื่อไรก็จะเป็นการอวสานของแบตเตอรี่อย่างถาวร เพราะแบตเป็นต้นทุนหลักอันนึง ของรถ EV ถ้ามันถูกลงชาร์จได้เร็วไปได้ไกล ใครๆก็เอาเพราะมันช่วยลดมลพิษได้ด้วย แปลว่าโรงงานผลิตแบตในบ้านเราก็มีสิทธิถูกดิสรัปต์ บางจาก ที่ไปซื้อเหมืองลิเทียมก็อาจโดนด้วยระวังกันไว้บ้างก็ดีเดี๋ยวจะหาว่าลุงไม่เตือน แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาส นักลงทุนก็ควรมองๆหุ้นโรงไฟฟ้าไว้บ้างก็ดีนะลุงว่า