คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : เส้นทางสายกาแฟ ‘สตาร์บัคส์’

>>

ความสำเร็จของ “สตาร์บัคส์” ถูกส่งต่อจากกาแฟถ้วยแรกไปยังถ้วยถัดๆ ไป นับล้านล้านถ้วยทั่วโลก

 

เหตุผลที่ผู้คนต่างพากันหลั่งไหลมาร้านสตาร์บัคส์ ไม่ใช่เป็นเพราะโลโก้โปรยเสน่ห์ของ “นางพรายไซเรน” ที่ดึงดูดใจให้ลูกค้าอยากเดินเข้ามาดื่มกาแฟในร้าน (ในเทพปกรณัมกรีก “ไซเรน” คือปีศาจที่มีส่วนผสมของ นางเงือก ปลาและนก)


แต่เป็นเพราะการวางตำแหน่งทางการตลาด ที่สถาปนาให้สตาร์บัคส์เป็นมากกว่าร้านกาแฟคือ เป็นบ้านหลังที่ 3 ที่ให้ความอบอุ่นแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแตกต่างไปจากบ้านหลังที่ 1 และบ้านหลังที่ 2 ที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่คือบ้านและที่ทำงาน


ดังนั้นแล้วกาแฟและเครื่องดื่มของสตาร์บัคส์ จึงไม่ใช่สินค้าที่ดีที่สุดที่ทำให้ลูกค้าต้องมา แต่เป็นประสบการณ์ดีๆ ในช่วงขณะหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยอมจ่ายค่ากาแฟในราคา + + เพื่อให้ได้มาใช้ชีวิตในบ้านหลังที่ 3 นี้

 

ตอนที่ “โฮวาร์ด ชูลท์ส” (Howard Schultz) อดีตซีอีโอและเจ้าของสตาร์บัคส์รุ่นที่ 2 คิดออกมาดังๆ ว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าเราใส่กาแฟที่มีคุณภาพในแบบของสตาร์บัคส์ ผสมลงในบรรยากาศรื่นรมย์ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ และความประทับใจของร้านกาแฟในยุโรป”


ในช่วงเวลานั้นผู้คนต่างเคยชินกับการซื้อกาแฟจากร้านค้าเล็กๆ ในอเมริกา ในราคาถ้วยละ 50 เซ็นต์ แล้วเติมเพิ่มอีกเท่าไหร่ก็ได้ อีกมือก็ถือหนังสือพิมพ์ แล้วใช้เวลาอย่างรีบเร่งเพื่อไปให้ถึงที่ทำงาน


ความคิดอันบรรเจิดของชูลท์สในยุคนั้น ถูกสกัดดาวรุ่งด้วยคำวิจารณ์ที่ว่า “เป็นเพียงแค่มุกตลก ที่จะจบลงในเวลาอันสั้น” ส่วนคนอื่นๆ ก็ไม่เข้าใจว่า “จะทำไปทำไม”


ผ่านมากว่า 30 ปี สตาร์บัคส์เปิดเผยรายได้ล่าสุดของไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2019 อยู่ที่ 6.31 พันล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 2 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

ความสำเร็จของสตาร์บัคส์จึงไม่ใช่เรื่องโจ๊กในสภากาแฟ และการลงทุนลงแรงออกแบบความคิดสร้างสรรค์ในยุคนั้น ทำให้ทุกวันนี้สตาร์บัคส์เป็นแบบอย่างความสำเร็จที่บรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่างอยากวัดรอยเท้า


ปัจจุบันสตาร์บัคส์มีสาขาทั่วโลก 30,184 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7% โดยสาขาที่งอกขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในปี 2018 จำนวน 94% เป็นสาขาที่เปิดนอกสหรัฐอเมริกา และจะทยอยเปิดเพิ่มเรื่อยๆ อีก 2,100 แห่งทั่วโลก

 

 

 

ขณะที่ในไทยมีสาขาทั้งหมด 336 แห่ง ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งสาขาในย่านการค้า อาคารสำนักงาน ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และในศูนย์การค้าขนาดเล็กที่เรียกว่า คอมมูนิตี้มอลล์แบบไดร์ฟ-ทรู ขับรถวนไปสั่งแล้วรับสินค้ากลับบ้านได้เลย และแบบสาขาแยกเดี่ยวที่เรียกว่า สแตนด์อโลน


โดยแต่ละปีสตาร์บัคส์เมืองไทย จะเปิดสาขาใหม่ไม่น้อยกว่า 30-40 แห่ง โดยรูปแบบสาขาน้องใหม่ล่าสุด ที่สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยคือ การเปิดสาขาในปั๊มเอสโซ่และปั๊มซัสโก้


“สตาร์บัคส์มุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์สตาร์บัคส์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น และเราก็พร้อมที่จะไปในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการให้เราไป”
ผู้บริหาร สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) ระบุ


สตาร์บัคส์พร้อมจะไปในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการให้ไป แต่กับภาพหลุดถ้วยกาแฟที่คลับคล้ายคลับคลายี่ห้อนางเงือก ในฉากเฉลิมฉลองหลังจากเสร็จศึกปลิดชีพ “ไนท์ คิง” ในห้องโถงของบ้านตระกูลสตาร์ค (Stark) ในซีรีส์ Game of Thrones season 8 ตอนที่ 4 ก็ทำเอาคนฉงนไม่น้อยว่า ตกลงนี่คือกระแสไวรัล (การบอกต่อกันแบบปากต่อปาก เกิดจากคำว่า Virus + Oral) แบบมีชั้นเชิงของสตาร์บัคส์ หรือความผิดพลาดแบบไม่น่าเชื่อของกองถ่ายทำซีรีส์กันแน่

 

อย่างไรก็ดี Bernie Caulfield, executive producer ของซี่รี่ส์สุดฮิต ให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุ WNYC แล้วว่า “มันเป็นความผิดพลาด และต้องขอโทษจริงๆ” และยังกล่าวติดตลกอีกว่า “รู้ไว้ซะด้วยจริงๆ แล้ว ทวีปเวสเทอรอสใน GOT เป็นที่แรกที่มีสตาร์บัคส์”


แม้แต่แอคเคานท์ทวิตเตอร์ของสตาร์บัคส์ ก็ยังโผล่มาหยอกเอินว่า “เอาจริงๆ นะ เรายังแปลกใจเลยว่า ทำไมแม่มังกรไม่สั่งเครื่องดื่ม dragon drink กันนะ”


ว่ากันว่า “โลกนี้ไม่มีความบังเอิญ” ถ้ามโนแบบหักมุม กาแฟสตาร์บัคส์คงเป็นเครื่องดื่มที่ให้ความอบอุ่นกับชาวเหนืออย่างตระกูลสตาร์ค มาแต่ไหนแต่ไรแล้วก็เป็นได้ เพราะทั้ง “สตาร์บัคส์” และ “สตาร์ค” ต่างมาจากศัพท์คำเดียวกันคือคำว่า “ดาว”


STAR (BUC) K (S)…