ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย แนะแบงก์คงดอกเบี้ยกู้ช่วยประชาชน แต่แนะขึ้นฝั่งรายใหญ่-เงินฝาก

>>

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แบงก์พาณิชย์ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ตามดอกเบี้ยนโยบาย เหตุสภาพคล่องตลาดการเงินสูง แต่แนะควรขึ้นฝั่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่เคยได้ดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมหนุนให้ขึ้นฝั่งเงินฝากกระตุ้นการออม พร้อมแจง เหตุหั่นเป้าจีดีพี ปีหน้าเหลือ 4% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งสงครามการค้า-เศรษฐกิจจีน-Brexit

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% จาก 1.5% ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นนั้น มองว่า จากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดกับประชาชน ดังนั้นจึงเชื่อว่า ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่ผ่านมาแน่นอน แต่ที่ควรปรับความเป็นกลุ่มที่ได้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่นธุรกิจขนาดใหญ่  

“ที่ผ่านมามีข่าวว่า ภาระหนี้ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นหลังขึ้นดอกเบี้ย แต่จากที่เราประเมินสินเชื่อประชาชนในขาเงินกู้ ไม่คิดว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบ เพราะว่าปัจจุบัน สภาพคล่องส่วนเกินอยู่สูงมาก และการแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่แบงก์จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย และตอนนี้หลายแบงก์ก็ออกมาพูดคล้ายๆกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้ และหากดูผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายอย่าง เช่น บ้านก็จะมีโปรโมชั่นคงดอกเบี้ย 3 ปีแรกเอาไว้ หรือ ผลิตภัณฑทางการเงินอื่น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ก็มีเกณฑ์ดอกเบี้ยที่ธปท.กำหนดไว้อยู่แล้ว”นายวิรไทย กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า ในทางตรงกันข้าม กลับพบว่า เริ่มเห็นสัญญาณที่ธนาคารเริ่มปรับดอกเบี้ยในด้านของเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากประจำ เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน จะปรับขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันที ดังนั้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนตลาดเงินระยะสั้น จึงมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นไปแล้ว จึงถือว่าเป็นข้อดีของการออมด้วย เพราะผลตอบแทนในตลาดเงินหรือพวกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ปรับเพิ่มขึ้นทันทีนั้น จะไปสร้างแรงกดดันให้กับธนาคารพาณิชย์ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องการย้ายเงินฝากจากเงินฝากประจำไปยังกองทุน หรือ ตราสารหนี้ระยะสั้นแทน

“แรงกดดันที่จะให้แบงก์ปรับขึ้นทันทีนั้น อาจไม่ได้เป็นแบบที่ผ่านมาที่จะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด เพราะที่ผ่านมาเราปรับขึ้นแบบต่อเนื่องกัน และที่ผ่านมาสภาพคล่องค่อนข้างตึงตัว แต่วันนี้เรามีสภาพคล่องในระบบส่วนเกินสูง และมาจากดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ โอกาสที่จะเห็นผลได้เร็วนั้นในคงต้องรอเวลา แต่จะมีบางกลุ่มที่ผลตอบแทนขึ้นทันที คือ ในตลาดตราสารหนี้”นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มใกล้กับศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจึงลดลง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดความเประบางในด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน เนื่องจากจะเริ่มเห็นการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เป็นต้น

สำหรับ กรณีที่คณะกรรมการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) มาอยู่ที่ 4% จากเดิมคาด 4.2% และปีนี้คาดอยู่ที่ 4.2% จากเดิมคาด 4.4% นั้น เนื่องจาก มองว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น ผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เนื่องจากไทยเป็นประเทศแบบเปิดและต้องพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แม้ว่าไทยจะได้รับทั้งผลกระทบในทางบวกและลบ โดยผลกระทบในทางบวก เช่น อาจเห็นการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกโดยตรง อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจจีน นอกจากจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายอย่างของจีน เนื่องจากที่ผ่านมา จีนพึ่งพิงหนี้จากภาคธุรกิจค่อนข้างสูง และในภาวะการเงินที่เริ่มตึงตัว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการต่อหนี้ของภาคธุรกิจได้ ดังนั้นจึงอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตาม ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งเรื่อง Brexit การที่สหราชอาณาจักรจะออกจะสหภาพยุโรป ยังไม่แน่นอนว่า ข้อตกลงล่าสุดจะเป็นอย่างไร และผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และปัญหาตะวันออกกลางที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ปัญหาการประท้วงในยุโรป ที่เป็นแนวโน้มของการต่อต้านรัฐบาล ก็มีความรุนแรงและกระจายตัวมากขึ้น เรื่องแบบนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราต้องติดตาม

ที่มา: www.bot.or.th/