ธนาคารแห่งประเทศไทยเลื่อนใช้เกณฑ์คุมสินเชื่อบ้านเป็น 1 เม.ย. 62 บังคับดาวน์หลัง 2-3

>>

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการแถลงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ยอมเลื่อนเกณฑ์ใช้ LTV ใหม่เป็น 1 เม.ย. 62 หวังให้สถาบันการเงิน-ประชาชนปรับตัวก่อนมีผลบังคับใช้ ด้านเกณฑ์ใหม่กำหนดวางดาวน์บ้านหลัง 2 ที่ 10-20% ขณะที่บ้านหลัง 3 กำหนดวางดาวน์ 30% รายละเอียดดังนี้

ธปท.จะเริ่มใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำ หรือ อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ใหม่ตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป จากเดิมกำหนดบังคับใช้ 1 มกราคมปีหน้า เพื่อให้เกิดการปรับตัวทั้งระบบสถาบันการเงิน และประชาชน

สำหรับหลักเกณฑ์ LTV ใหม่ (การผ่อนที่อยู่อาศัย 2 หลังขึ้นไป) นั้น มีรายละเอียด คือ

  • ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ผ่อนชำระหลังแรกแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้น จะต้องวางเงินดาวน์ 10%
  • ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ผ่อนชำระหลังแรกยังไม่ถึง 3 ปี หรือ กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องวางเงินดาวน์ 20%
  • ที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไป จะต้องวางเงินดาวน์ 30% ในทุกระดับราคา

เกณฑ์ดังกล่าวนั้นจะไม่กระทบกับประชาชนที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และจะไม่บังคับใช้กับการกู้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเอง รวมทั้งจะไม่กระทบการรีไฟแนนซ์สำหรับผู้กู้ที่มีภาระผ่อนเพียงหนึ่งหลัง และผู้กู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือผ่อนดาวน์ก่อน 15 ตุลาคม 2561

“สำหรับเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่สัญญาที่ 2 เท่านั้น คือ หากผ่อนบ้านหลังแรกหมดแล้ว แต่กู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่หากผ่อนชำระพร้อมกัน จะเข้าหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่หลังที่ 2 เป็นต้นไป”นายจาตุรงค์ กล่าว

สำหรับการนับรวมสินเชื่อ Top-Up ในวงเงินที่ขอกู้ จะนับรวมสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทุกประเภทที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกันในวงเงินที่ขอกู้ ยกเว้น สินเชื่อที่ใช้ชำระเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้และประกันวินาศภัย ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงของผู้กู้และสถาบันการเงิน และยกเว้นสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย

การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น เพื่อดูแลประชาชนที่ต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยให้สามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสม ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และเป็นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามกาปรรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเน้นการตรวจสอบให้สถาบันการเงินมีแนวนโยบายและพิจารณาสินเชื่อตามหลักเกณฑ์

ทั้งนี้ จากข้อมูล พบว่า ในปัจจุบันมีผู้กู้สินเชื่อบ้านที่เป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งปี มีจำนวน 100,000 บัญชี พบว่า

  • สัญญาบ้านหลังแรก และราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 86.4% 
  • สัญญาบ้านหลังที่ 2 ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีทั้งสิ้น 7.6%
  • สัญญาบ้านหลังที่ 3 หรือ สัญญาที่ราคาเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น มีทั้งสิ้น 6%
ที่มา: www.bot.or.th/