รัฐปัดทุกข้อเสนอซีพี

>>

คณะกรรมการอีอีซีไม่รับเงื่อนไขพิเศษ เร่งเครื่องให้จบใน ก.พ.ก่อนเลือกตั้ง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ที่มีข่าวว่าเอกชนได้ยื่นข้อเสนอในรายละเอียดนอกร่างขอบเขตเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) อาทิ ขอขยายสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปีขอให้ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนโครงการ ตั้งแต่ปีแรกที่เปิด รวมถึงการการันตีกำไร 6% เป็นต้น นั้นขอชี้แจงว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นไม่สามารถรับพิจารณาได้ เนื่องจากเป็นการยื่นเงื่อนไขที่นอกเหนือจากทีโออาร์ ซึ่งขัดกับกติกาการประมูลโครงการที่ระบุไว้ว่าเงื่อนไขในทีโออาร์ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะคู่แข่งทุกรายใช้เงื่อนไขเดียวกันไม่สามารถปรับเงื่อนไขให้รายใดหรือให้ผู้เสนอคะแนนมากที่สุดได้ สำหรับกรณีการเจรจาเงื่อนไขพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นนั้น เป็นการยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมให้รัฐบาลพิจารณาซึ่งเป็น รายละเอียดที่ไม่มีนัยสำคัญมาก อย่างไรก็ตามหากการเจรจาไม่ได้ข้อสรุปนั้นรัฐบาลจะเรียกเอกชนรายที่สองคือกลุ่มบีทีเอสเข้ามาเจรจาเงื่อนไขต่อไป

"ขณะนี้แม้การเจรจาจะช้าลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าจะจบในเดือน ก.พ.นี้ จึงยังถือว่าอยู่ในแผนคือการลงนามสัญญาภายในรัฐบาลชุดนี้" นายคณิศ กล่าว

สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์อีอีซีที่สำคัญ อีกจำนวน 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวมมากกว่า 5 แสนล้านบาท ได้แก่

  1. โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท
  2. โครงการพัฒนาเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 2 แสนบ้านบาท
  3. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท
ขณะนี้ ทุกโครงการเข้าสู่กระบวนการหมดแล้ว ตั้งเป้าหมายว่าจะเร่งขั้นตอนขายซอง ทีโออาร์และให้เอกชนยื่นข้อเสนอ เพื่อให้ได้ตัวเอกชนที่เสนอเงื่อนไขดีสุด ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนเจรจาต่อไปในทุกโครงการ

สำหรับโครงการที่ล่าช้ามากที่สุด คือ โครงการพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 เนื่องจากมีการยกเลิกขั้นตอนการซื้อซองออกไปหลังจากที่มีเอกชนร้องเรียนให้ขอขยายเวลาหลังจากเปิดขายซอง มีเอกชนเพียงรายเดียวยื่นข้อเสนอและขาดคุณสมบัติ เชื่อว่าโครงการนี้จะช้ากว่าแผนไม่น้อยกว่า 2 เดือน