ธนชาตยังเป็นแชมป์สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จริงหรือ? หลัง “TCAP คูณ TMB”
>> ดีลควบรวมธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต ได้ความชัดเจนแล้วว่าจะมีการควบรวมกิจการแน่นอน แต่จะเป็นรูปแบบไหน ยังต้องติดตามกันต่อ เพราะถ้าพูดถึงธนาคารธนชาตหรือ TCAP ย้อนไปเมื่อปี 2553 หรือเกือบ 10 ปีที่แล้ว
ดีลควบรวมธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต ได้ความชัดเจนแล้วว่าจะมีการควบรวมกิจการแน่นอน แต่จะเป็นรูปแบบไหน ยังต้องติดตามกันต่อ เพราะถ้าพูดถึงธนาคารธนชาตหรือ TCAP ย้อนไปเมื่อปี 2553 หรือเกือบ 10 ปีที่แล้ว ธนาคารธนชาตเข้าซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทยจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยดีลครั้งก่อนโน้น เป็นลักษณะการโอนกิจการทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทยให้ธนาคารธนชาต แล้วจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทและหยุดประกอบธุรกิจในอีก 1 ปีให้หลัง
เพราะฉะนั้น TMB+TCAP ในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการเหมือนกัน แต่สถานะของธนาคารไซส์กลางทั้ง 2 แห่ง มีจุดเด่นทั้งคู่ ซึ่งหลังจากที่พูดถึงหุ้น TMB ไปแล้ว คราวนี้มาเจาะหุ้นตัวที่ TCAP ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
สำหรับรายได้ของ TCAP เอง เติบโตจาก “สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์” โดยเงินสินเชื่อทั้งปี 2561 มีจำนวน 753,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.88% จากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 13.44% จากภาวะตลาดรถยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ธนาคารยังคงเป็นแชมป์ตลาดสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ทั้งนี้ก็ยังขยายสินเชื่อรถมือสอง หรือกลุ่มรถเก่าด้วย ซึ่งรวมสินเชื่อรถแลกเงินด้วย เช่น Cash Your Book และ Cash Your Car
ในด้านผลประกอบการปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิ 14,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.47% ทั้งนี้สินทรัพย์รวมของธนาคารเติบโตต่อเนื่องตลอดทั้งปีที่ 3.67% ตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอี และยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างแข็งแกร่ง ตามนโยบายการบริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอลให้อยู่ที่ระดับเดิมเป๊ะ! หรือที่ระดับ 2.02% เท่ากับปี 2560 ส่วนผลิตภัณฑ์เงินฝาก ก็เพิ่มขึ้น 5.01%
โดยภาพรวมสินทรัพย์รวมของธนาคารและบริษัทย่อย มีจำนวน 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,055 ล้านบาท หรือ 3.67% จากการบริหารสภาพคล่องการบริหารอัตราผลตอบแทนอย่างเหมาะสม ขณะที่การดำเนินงานของบริษัทย่อย บริษัทประกัน การบริหารโบรกเกอร์และกองทุนก็ยังเติบโตเป็นบวก
ส่วนของราคาหุ้นเอง ทางนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) คาดว่า TCAP จะจ่ายปันผลอีก 1.30-1.40 บาทต่อหุ้น จากกำไรของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ขณะที่บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด มองว่าหุ้น TCAP ยังปรับเพิ่มขึ้นได้อีกหรือมีอัพไซต์ โดยประมาณการสินเชื่อปีนี้ เติบโต 7% ขยายตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
เพราะฉะนั้นเมื่อลิงค์ถึง TMB จะทำให้การควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทำให้ทั้ง 2 ธนาคารมีจุดเด่นเรื่องดิจิทัล เพราะ TMB เองมีจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอยู่แล้ว ส่วน TCAP เอง ก็น่าสนใจในแง่กลยุทธ์ที่มีการวางหมากไว้ว่า จะให้ความสำคัญกับการบริหารทางการเงินในรูปแบบธนาคารดิจิทัล (ดิจิทัลแบงก์กิ้ง) เต็มรูปแบบมากขึ้นในช่วงต่อจากนี้
ที่มา บทวิเคราะห์หุ้น TCAP บล.เอเชีย เวลท์, บทวิเคราะห์หุ้น TCAP บล.ฟินันเซีย ไซรัส, รายงานประจำปี 2560 และการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการและงบการเงินปี 2561 ของ TCAP