“กองหุ้นปันผล”...กับเงื่อนไขในการจ่าย ‘ปันผล’
>> หนึ่งในพื้นที่การลงทุนที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ให้ความสนใจ คือ การลงทุนในกลุ่ม “หุ้นปันผล” เหตุผลนั้นแสนง่าย...เพราะนอกจากจะได้ลุ้นผลตอบแทนจาก
หนึ่งในพื้นที่การลงทุนที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ให้ความสนใจ คือ การลงทุนในกลุ่ม “หุ้นปันผล” เหตุผลนั้นแสนง่าย...เพราะนอกจากจะได้ลุ้นผลตอบแทนจาก ‘ส่วนเกินมูลค่าเงินลงทุน (Capital Gain)’ แล้ว ยังมีผลตอบแทนในรูปของ ‘เงินปันผล’ ที่บริษัทจ่ายออกมาให้ในระหว่างทางที่ลงทุนด้วย
ทำให้อุ่นใจ...แม้ในยามที่ตลาดหุ้นแดงเดือด ราคาหุ้นดำดิ่ง เราก็อาจจะยังได้ ‘เงินปันผล’ ออกมาปลอบใจในช่วงเวลาเลวร้ายในตลาดหุ้นเช่นนั้น
ฟากอุตสาหกรรมกองทุนรวมเอง ก็มี “กองหุ้นปันผล” เช่นกัน
แต่กลไกในการจ่าย ‘เงินปันผล’ เมื่อเป็นกองทุนรวมนั้น คงไม่เหมือนกับ ‘หุ้นรายตัว’ เสียทีเดียว เพราะกองทุนเองก็มีข้อจำกัดในการจ่าย ‘เงินปันผล’ เช่นกันก่อนอื่นเลยสำหรับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนใน “กองหุ้นปันผล” นั้น ต้องทำความเข้าใจเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะสืบเนื่องมาจาก ‘ชื่อกองทุน’ นั้นๆ ก่อนเป็นอันดับแรก
เพราะ “กองหุ้นปันผล” บางกองเน้นลงทุนในหุ้นปันผล แต่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลก็มี
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าใช้ชื่อกองเป็นแนว “กองหุ้นปันผล” แล้ว มักจะมีนโยบายจ่ายเงินปันผล ตรงนี้ผู้ลงทุนต้องไปอ่านในหนังสือชี้ชวนให้ชัดเจน ไม่ใช่จะดูแค่ชื่อกองทุนเพียงอย่างเดียว
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) ประมาณ 3% ต่อปี ถ้าเราเข้าไปลงทุนแล้วได้ปันผลระดับนี้ก็น่าจะโอเค ดีกว่าเงินฝากเยอะ แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังมีความผันผวนของราคาเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย
ไม่ใช่ได้ปันผลมา 3% แต่ขาดทุนราคาไป 20% แบบนี้ เบ็ดเสร็จติดลบ 17% ก็เป็นสิ่งที่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องพึงตระหนัก ไม่ว่าจะลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” หรือ “ลงทุนโดยตรง” ก็ตาม
“ดังนั้น การแบ่งเงินเย็นมาเพื่อลงทุนหวังปันผลจากหุ้นจะช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องหวั่นไหวไปกับความเหวี่ยงของราคาหุ้นในช่วงเวลาที่เลวร้าย เพราะเป็น ‘เงินเย็น’ ที่จัดสรรมาเพื่อการนี้แล้วนั่นเอง”
“นโยบายปันผล” ผู้ลงทุนก็ควรสนใจเช่นเดียวกัน ซึ่งจะบอกไว้ว่าจ่ายปีละไม่เกินปีละกี่ครั้ง เช่น ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง หรือไม่เกินปีละ 4 ครั้ง เป็นต้น และที่สำคัญต้องตระหนักและไม่ลืมว่า “ไม่ใช่การรับประกันว่าจะจ่ายปันผล” นะ แต่กองทุนเขาพยายามจะทำให้ได้ตามที่ระบุไว้ในนโยบายเท่านั้นเอง เช่น ปีหนึ่งจ่ายไม่เกินปีละ 12 ครั้ง อาจจะจ่ายไม่ถึง 12 ครั้งก็ได้ หรือไม่จ่ายเลยก็ได้ถ้าในช่วงเวลานั้นกองทุนมีผลการลงทุนขาดทุนอยู่ เป็นต้น
“แต่โดยปกติแล้ว บลจ.ตั้ง ‘กองหุ้นปันผล’ มา ก็มุ่งหวังในเรื่องของการสร้างกระแสรายได้ (Income) ให้กับผู้ลงทุนด้วยการปันผลเป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้น หากไปดูข้อมูลการจ่ายปันผลของกลุ่ม ‘กองหุ้นปันผล’ ที่ลงทุนกันอยู่ เชื่อว่าส่วนใหญ่จะมีการจ่ายอย่างสม่ำเสมอทุกปี ส่วนจะปีละกี่ครั้ง มากบ้าง น้อยบ้างก็เป็นอีกประเด็น”
แต่ในปีที่ตลาดหุ้นไม่ดี ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงติดลบ เช่นในปี2008 หรือ 2015 หรือช่วงครึ่งหลังปี2018 เป็นต้น “กองหุ้นปันผล” ก็อาจจะไม่สามารถจ่ายปันผลได้เช่นกัน ในขณะที่ “หุ้นรายตัว” ยังสามารถจ่ายได้ (ถ้ามีกำไรจะจ่าย)
ถึงตรงนี้...ผู้ลงทุนต้องตระหนักว่า “ปันผลหุ้น” กับ “ปันผลกองทุนหุ้น” นั้น “ไม่เหมือนกัน” ปันผลของหุ้นแต่ละตัวนั้นมาจาก ‘กำไรของบริษัท’ ที่ทำได้แล้วจ่ายออกมา ไม่ว่าราคาหุ้นจะตกหรือไม่ก็ตาม
“แต่ปันผลของกองทุนหุ้นนั้นมาจาก ‘กำไรจากการลงทุน’ ของกองทุนรวม เพราะฉะนั้นกองทุนหุ้นอาจได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่กองทุนถือลงทุนอยู่ แต่อาจจ่ายปันผลไม่ได้ เพราะขาดทุนจากราคาหุ้นที่ถืออยู่ทำให้เบ็ดเสร็จแล้วในช่วงเวลาที่จะจ่ายปันผลกองทุนมีผลขาดทุนทำให้จ่ายไม่ได้นั่นเอง”
กล่าวมาถึงตรงนี้ ไม่ใช่ทำให้ถอดใจแต่ประการใด “กองหุ้นปันผล” ก็ยังเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้ไม่ต่างกับ ‘หุ้นปันผล’ แต่ประการใด เพราะโดยปกติแล้ว ‘กองหุ้นปันผล' จะจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอตามนโยบายที่ระบุไว้เป็นสำคัญอยู่แล้ว