5 ปัจจัยบวก...หนุน “ZEN” สู่การเติบโตที่โดดเด่น

>> แม้แนวโน้มอุตสาหกรรมร้านอาหารบริการเต็มรูปแบบในไทยจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายจะได้ประโยชน์จากการเติบโตนี้ หลายรายต้องปิดกิจการลง ดังนั้นผู้ผู้ที่จะยืนหยัดในธุรกิจนี้และโตไปกับแนวโน้มได้จะต้องเป็นผู้ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เป็นร้านอาหารที่มีสาขา (Chained Restaurant) ซึ่งมีแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่ง

แม้แนวโน้มอุตสาหกรรมร้านอาหารบริการเต็มรูปแบบในไทยจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายจะได้ประโยชน์จากการเติบโตนี้ หลายรายต้องปิดกิจการลง ดังนั้นผู้ที่จะยืนหยัดในธุรกิจนี้และโตไปกับแนวโน้มได้จะต้องเป็นผู้ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เป็นร้านอาหารที่มีสาขา (Chained Restaurant) ซึ่งมีแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่ง

หนึ่งในบริษัทที่น่าจับตาในกลุ่มธุรกิจนี้ คือ “บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN)” ถือเป็นผู้บุกเบิกร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ปี1991 ในแบรด์ ‘ZEN’ และได้พัฒนาแบรนด์อื่นๆ ต่อยอดธุรกิจตามมา โดยมีการเปิดสาขาทั้งของกล่มุบริษัทและสาขาแฟรนไชส์ และยังคงไม่หยุดยั้งกับการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดย “บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)” ได้ประเมินปัจจัยบวกที่หนุนการเติบโตของ ZEN เอาไว้ ดังนี้

การเปิดสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีแบรนร้านอาหารทั้งหมด 12 แบรนด์ ได้แก่ ZEN, AKA, On the Table, Tetsu, Sushi Cyu, Musha, ตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เฝอ, เดอตำ มั่ว และเขียง โดยมีจำนวนสาขาของกลุ่มบริษัทเอง 110 สาขา และมีสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์อีก 145 สาขา ณ สิ้นปี 2018 ซึ่งมีการเปิดสาขาในกลุ่มอาเซียนด้วยรวม 8 สาขา จากทั้งหมด 255 สาขา

“บริษัทยังมีแผนขยายสาขาใหม่ในอัตราที่มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมหลายสถานที่ทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สาขา Stand Alone หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารของกลุ่มบริษัทได้ง่าย ในปี 2019 บริษัทมีแผนเปิดสาขาของกลุ่มบริษัทเอง 36 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 87 สาขา และมีแผนที่จะเติบโตต่อเนื่องในปี 2020 และด้วยการดำเนินธุรกิจมายาวนาน ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้ามาตลอด ทำให้เราเชื่อว่ากลุ่มบริษัทจะสามารถขยายสาขาได้ตามเป้าหมาย”

 

ควบคู่กับการขยายธุรกิจ Delivery, Catering และค้าปลีก

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีการให้บริการจัดส่งอาหารหรือ Delivery ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Food Panda, Lineman, Grab และ Honest Bee เป็นต้น รวมถึงให้บริการการจัดเลี้ยง Catering ทั้งในและนอกสถานที่ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงบริษัท และงานวันเกิด เป็นต้น ทั้งนี้ในปี 2019 บริษัทได้วางแผนลงทุนพัฒนาช่องทางการสั่งอาหาร ออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือของเครือข่ายมือถือต่างๆ และขยายสาขาที่ให้บริการเฉพาะการจัดส่งอาหารให้ ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมถึงการนำเสนอเมนูใหม่ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าใช้บริการ ผ่านช่องทางนี้มากขึ้น

“ในส่วนธุรกิจค้าปลีก ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีผลิตภัณฑ์อาหารค้าปลีก 2 ประเภทได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง Ready-to-Cook เช่น หมี่มั่ว และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน Ready-to-Eat เช่น น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มไก่ และแจ่วบอง (น้ำพริกปลาร้า) ซึ่งจะเป็นการวางขายตามหน้าสาขาร้านอาหารของกลุ่มบริษัทเป็นหลัก บริษัทอยู่ระหว่างขยายผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและจะเพิ่มช่องการการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้นด้วย”

พัฒนาและมองหาแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ต่อยอดการเติบโต

กลุ่มบริษัทมีฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อทำหน้าที่คิดค้นแบรนด์อาหารใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคอย่างทั่วถึง และเพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด กลุ่มบริษัทอาจพิจารณาเข้าซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการ (M&A) หรือร่วมทุนกับร้านอาหารอื่นเพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจ และเพิ่มรายได้กับช่องทางการจำหน่ายได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เวลาในการลงทุนและพัฒนาด้วยตนเอง

เราเชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นการขยายไปยังแบรนด์ใหม่เพื่อสร้างการเติบโตต่อไป

 

คาดกำไรจะฟื้นตัวแรงในปี 2018 และโตต่อเนื่องในปี2019 -2020

บริษัทมีกำไรสุทธิช่วงครึ่งแรกปี18 กลับมาโตแรง 163% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยทั้งปี 2018 เราคาดกำไรสุทธิจะโต 82.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งจากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่ฟื้นตัว การเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่องทั้งของกลุ่มบริษัทและสาขาแฟรนไชส์มากขึ้น อัตรากำไรจะมีการพัฒนาการในเชิงบวกและค่าใช้จ่ายลดลง คาดกำไรสุทธิปี 2019 - 2020 จะเติบโตต่อเนื่อง 33.3% Y-Y และ 34.9% Y-Y

 

ฐานะทางการเงินของบริษัทจะดีขึ้นหลัง IPO

ก่อน IPO บริษัทถือว่ามีสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงนัก โดยมี ‘อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) สิ้นปี2017 เท่ากับ 0.27 เท่า และ ‘อัตราผลตอบแทนจากการใช้สินทรัพย์ (ROA)’ อยู่ที่ 5.4% โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่คือ ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ที่ไม่ตัวตน และมี ‘สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E)’ อยู่ที่ประมาณ 3.3 เท่า ในขณะที่มี ‘อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing D/E Ratio)’ อยู่ที่ 1.9 เท่า จากภาระหนี้ที่ก่อให้เกิดดอกเบี้ยจ่าย ณ สิ้นปี 2017 ที่ราว 700 ล้านบาท

“ภายหลัง IPO บริษัทจะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น โดยคาด Current Ratio สิ้นปี 2019 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.23 เท่า และคาด D/E Ratio จะลดลงเป็น 0.44 เท่า ภายใต้สมมติฐานว่าบริษัทจะนำเงินที่ได้จาก IPO ไปชำระหนี้ที่มีอยู่เกือบทั้งหมด”

 

เราประเมินมูลค่าหุ้น ZEN ด้วยวิธี Relative PE เทียบเคียงกับ PE เฉลี่ยของกลุ่มร้านอาหารที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวม 4 บริษัทได้แก่ MINT ,M ,OISHI และ SNP โดยมี PE เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 25 เท่า ใกล้เคียงกับ PE เฉลี่ยของบริษัทในระดับโลกที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารซึ่งอยู่ที่ราว 24.8 เท่า

“หากพิจารณาในส่วนของอัตราการเติบโตของกำไรพบว่า ZEN มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรดีกว่ากลุ่ม โดยเราคาดกำไรสุทธิปี 2018 – 2019 จะเติบโตสูงราว 82.6% Y-Y และ 33.3% Y-Y เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่ม (อิงข้อมูลจาก Bloomberg Consensus) ที่คาดโต 2.5% Y-Y และ 16% Y-Y ตามลำดับ”

ดังนั้นเราจึงเห็นว่าการประเมินมูลค่าหุ้น ZEN โดยอิง PE ที่ระดับ 25 เท่า มีความเหมาะสม ซึ่งเราคาดการณ์ EPS ในปี 2019 ไว้ที่ 0.66 บาท/หุ้น จะได้ราคาเป้าหมายปี 2019 เท่ากับ 16.5 บาท แนะนำ “ซื้อ”