อาหารยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือนคืออะไร? ช่วงสิ้นเดือนหรือปลายเดือนก็ตาม อาจจะมีเมนูแตกต่างกันไปตามความชอบส่วนตัว แต่ช่วงกลางเดือนแบบนี้เงินกระเป๋าเริ่มน้อยลง คงจะมีใครหลายๆ คนนั่งคิดถึง “มาม่า” อยู่แน่ๆ เพราะใครๆ ก็กินมาม่า จึงทำให้มาม่าหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นตัววัดกำลังซื้อหรือเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
มาม่าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยหรอเนี่ย
“มาม่า” ชื่อเรียกติดปากของสินค้าในกลุ่มบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ของ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA หนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่เทรดอยู่ในตลาดหุ้น! โดยหุ้นตัวนี้เราไม่ค่อยได้ยินชื่อเท่าไหร่นัก แต่รู้หรือไม่ว่าบริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแค็ป) 5.11 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมสินค้าทั้งที่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ โดยเฉพาะแบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์” หรือจะเป็นน้ำผลไม้ และอื่นๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์และแป้งสาลี สร้างยอดขายปีๆ นึงราว 2 หมื่นล้านบาท จึงไม่แปลกที่หุ้นตัวนี้จะเป็นหุ้นอีกตัวที่สะท้อนการบริโภคได้ดีเช่นนี้
กำลังการผลิตมาม่า 7 ล้านซองต่อวัน
โดย “พระเอก” หรือสินค้าที่สร้างรายได้ให้ TFMAMA ยังคงเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ขายดีมาตลอด 40 ปี มีสัดส่วนประมาณ 50% ของรายได้ทั้งหมด หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกว่าสร้างรายได้เป็นเลข 14 หลัก ให้ทายว่าบริษัทต้องผลิตมาม่าออกมาวันละกี่ซอง? …. (ตอบ 7 ล้านซองต่อวัน)
นอกจากมาม่าจะเป็นสินค้ากลุ่มหลักแล้ว รองลงมาเป็นสินค้ากลุ่มเบเกอรี่ภายใต้แบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท จากกลุ่มธุรกิจทั้งหมด 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
- กลุ่มธุรกิจอาหาร
- กลุ่มธุรกิจวัตถุดิบ
- กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์
- กลุ่มธุรกิจลงทุน
- กลุ่มธุรกิจอื่นๆ
โดยภายหลังบริษัทควบรวมกิจการเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสินค้าจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศในอัตราใกล้เคียงกัน
มุมมองนักวิเคราะห์ต่อหุ้น TFMAMA
สำหรับหุ้น TFMAMA สังเกตว่าไม่มีบริษัทหลักทรัพย์รายใดออกบทวิเคราะห์ออกมาเลย ทั้งๆ ที่สินค้าเป็นที่รู้จักและรายได้มหาศาลขนาดนี้ ทาง “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” นักวิเคราะห์อิสระ ให้คำตอบกับ Wealthy Thai ว่า “จริงๆ ผมสนใจหุ้นตัวนี้นะ” เพราะเป็นหุ้นปันผลดี สินค้าเป็นที่ยอมรับ แต่ติดเรื่อง “สภาพคล่องของหุ้น” เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม จึงทำให้มีความเสี่ยงในแง่ของต้นทุนและค่าใช้จ่ายพนักงาน
ถ้ามาม่าขึ้นราคา จะกระทบราคาหุ้น
แต่ก็มีประเด็นเรื่องการปรับราคามาม่าให้ติดตาม ซึ่งในอนาคตหากมีการปรับราคาขึ้น จะอิมแพคกับราคาหุ้น TFMAMA แน่นอน แต่ปัจจุบันกำไร (มาร์จิ้น) ยังบางๆ ขณะเดียวกันราคามาม่าไม่ได้ขึ้นมาหลายปีแล้ว อย่างราคามาม่ากว่าจะปรับจาก 5 บาท เป็น 6 บาท ก็ใช้เวลานับสิบปี
ฉะนั้นก็ต้องติดตามกันต่อว่าในแง่ความน่าสนใจของตัวหุ้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต เพราะทาง TFMAMA เองก็ประกาศเรื่องการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ อย่างมาม่ารสผัดไข่เค็มก็ได้รับการตอบรับดี ทั้งนี้ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องการผูกขาดช่องทางจำหน่าย 40% กับซีพีออลล์ แต่ในแง่สินค้าก็เป็นหุ้นอีกตัวที่น่าทำความรู้จัก
เลือกตั้งหนุนหุ้นค้าปลีก?
ส่วนหุ้นค้าปลีกหรือหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าที่เราต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นักวิเคราะห์มองว่าในช่วงเลือกตั้งนี้ หุ้นค้าปลีกได้ประโยชน์จริง! แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับนโยบายภาครัฐด้วย เช่น CPALL ได้อานิสงส์จากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้ใช้ผ่านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวได้ ใครที่สนใจหุ้นของกินของใช้ หรือของมันต้องมี! ก็ต้องจับจังหวะดีๆ เพราะแม้ว่าจะได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกช่วงเสมอไป
ที่มา รายงานประจำปี 2560 ของ TFMAMA