เมื่อ“โพสต์ทูเดย์” หยุดพิมพ์ ปิดฉากธุรกิจ หรือปรับตัวเพื่อไปต่อ ?

>>

เมื่อมีกระแสข่าวปิดตัวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างโพสต์ทูเดย์และ M2F ออกมา เล่นเอาสังคมช็อคไปพอสมควรว่าเกิดอะไรขึ้น แม้คนทั่วไปจะรับรู้กันว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังซบเซา ทยอยปิดตัวไปทีละฉบับสองฉบับ แต่ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่าสื่อค่ายสีแดง ที่เพิ่งจะครบรอบ 16 ปี จะต้องหยุดลง

แม้การพิมพ์หนังสือจะหยุดลง แต่แฟนโพสต์ทูเดย์  ก็รออ่านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ เพราะทางโพสต์ทูเดย์จะหันมาเน้นสื่อดิจิทัลแทน โดยทาง “สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทปรับตัวด้านการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งทางการตลาดและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“บริษัทยังคงมีนโยบายที่จะพยายามรักษารายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์ เพิ่มรายได้ส่วนรายการโทรทัศน์ และรายได้ดิจิทัล ในขณะเดียวกันจะควบคุมและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมฯจึงมอบหมายให้ผู้บริหารศึกษาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและต้นทุนการทำงานของแผนกโรงพิมพ์บริษัทตามความเหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสียหายของอุปกรณ์ การลงทุนในอะไหล่ ค่าบำรุงรักษา และค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาให้หยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์และหนังสือพิมพ์ M2F ภายในเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นไป และให้มุ่งเน้นการใช้ช่องทางสื่อดิจิทัล และสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น” นายสุทธิเกียรติ ระบุในหนังสือแจ้ง ตลท.

 

อะไรเป็นสาเหตุให้โพสต์ทูเดย์ต้องปิดตัว

ถ้าเปิดงบการเงิน จะเห็นว่าผลประกอบการปี 2561 บริษัทขาดทุนสุทธิ 167.65 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,270 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการขายและบริการ 1,230 ล้านบาท รายได้อื่น 40 ล้านบาท หรือมีรายได้รวม 1,270 ล้านบาท ทั้งนี้สำหรับตัวเลข “ขาดทุนสุทธิ” ค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากบริษัทสามารถลดขาดทุนไปได้ 191 ล้านบาทในปีเดียว จากปี 2560 ที่ขาดทุน 358.84 ล้านบาท ลดลงเหลือ 167.65 ล้านบาทในปี 2561 ที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังซบเซา ทั้งการพยายามรักษาต้นทุนขายและบริหาร ให้เหมาะสมกับยอดขายที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

แต่ถ้าย้อนดูผลประกอบการ 6 ปี ย้อนหลัง จะพบว่ารายได้บริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญดังนี้

  • ปี 2561 มีรายได้รวม 1,270 ล้านบาท
  • ปี 2560 มีรายได้รวม 1,366.9 ล้านบาท
  • ปี 2559 มีรายได้รวม 1,865.2 ล้านบาท
  • ปี 2558 มีรายได้รวม 2,211.6 ล้านบาท
  • ปี 2557 มีรายได้รวม 2,235.1 ล้านบาท
  • ปี 2556 มีรายได้รวม 2,446.9 ล้านบาท

ซึ่งที่มาของรายได้หลักมาจากการขายโฆษณาและการขายสิ่งพิมพ์ รองลงมาเป็นการ รับจ้างพิมพ์ รายได้จากโทรทัศน์และดิจิทัลมีเดีย และรายได้อื่นๆ โดยปี 2560 บริษัทมีรายได้จากการขายโฆษณา 701.7 ล้านบาท แต่ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2556 หรือ 4 ปีย้อนหลัง ที่มีรายได้จากการโฆษณา 1,936.1 ล้านบาท หรือลดลง 63 %   ขณะที่รายได้จากสิ่งพิมพ์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 200-400 กว่าล้านบาท เพราะฉะนั้นการลดลงของการขายโฆษณาจึงสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในภาวะซบเซา 

 

หลังจากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?

  • การปิดตัวหนังสือพิมพ์ จะทำให้บริษัทมีหนังสือพิมพ์รายวันเพียงประเภทเดียวคือ Bangkok Post
  • พนักงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีประมาณ 200 กว่าคน บริษัทแจ้งว่าจะจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานต่อไป
  • ตัวบริษัทจะ “ลีน” ขึ้น จึงทำให้ผลประกอบการดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากไม่ต้องแบกรับต้นทุนของสิ่งพิมพ์
  • การแข่งขันของสื่อดั้งเดิมกับสื่อใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์
  • โดยใน Facebook มีผู้ติดตามแฟนเพจ Posttoday 3.38 ล้านคน เมื่อยักษ์จากออฟไลน์ เดินเข้า ออนไลน์เต็มตัวจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการสื่อขนาดไหน


สำหรับสื่อเจ้าอื่นๆ เครือมติชน มีผู้ติดตามแฟนเพจมากที่สุด 15.5 ล้านคน
นำโดย Khaosod 13.16 ล้านคน Matichon Online 1.37 ล้านคน Prachachat 9.8 แสนคน

ขณะที่ Thairath มีผู้ติดตามแฟนเพจ 10.66 ล้านคน Dailynews มีผู้ติดตามแฟนเพจ 1.9 ล้านคน MGROnline Live 1.33 ล้านคน The Standard 5.8 แสนคน กรุงเทพธุรกิจ 2.8 แสนคน
และที่มาแรงที่สุดคือ ฐานเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีตัวเลขผู้ติดตามแค่ 2.96 แสนคน แต่เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในขณะนี้

แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะปิดตัวลง แต่ยังมีโพสต์ทูเดย์เวอร์ชั่น “ออนไลน์” การแข่งขันก็ยังไม่สิ้นสุดลง อยู่ที่ว่าใครจะปั้นคอนเทนต์ได้โดนใจผู้บริโภคมากกว่ากัน สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหารฉันใดก็ฉันนั้น…

ที่มา รายงานงบการเงิน 2561 ,สรุปผลการดำเนินงานประจำปี 2561, รายงานประจำปี 2560 และ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1372028