โตโยต้า-ฮีโน่ คุย "สมคิด" ยืนยันลงทุนไทยต่อเนื่อง 2 ปี 2.4 หมื่นล้าน จีนสนลงทุนพลังงาน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และคณะผู้บริหารระดับสูง บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง และ บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ โตโยต้าแจ้งว่าในปี 2562 มีการลงทุนในประเทศไทย 1 หมื่นล้านบาท และในปีหน้าจะลงทุนอีก 1 หมื่นล้านบาท และยืนยันไทยเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคนี้ ขณะที่ช่วง 2-3 ปีนี้ จะเน้นผลิตรถยนต์ที่เน้นการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์น้อย
ขณะที่ บริษัท ฮีโน่ ประเทศไทย ได้ลงทุนศูนย์การผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮีโน่แห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน มีเงินลงทุน 3,560 ล้านบาท มีขนาดพื้นที่ 250 ไร่ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เริ่มก่อสร้างเดือน ก.ค. 2562 จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2564 และเริ่มการส่งออกปี 2567
นายสมคิด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 นายเฉิน จี้ปิง ประธานบริษัท ไชน่า เอนเนอร์ยี่ เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น หรือเอนเนอร์ยี่ ไชน่ารัฐวิสาหกิจพลังงานรายใหญ่ของประเทศจีนได้เข้ามาพบและหารือที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าธุรกิจในประเทศไทยที่บริษัทได้รับคัดเลือกจากบริษัท บีกริม เพาเวอร์ ในการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าไฮบริด สำหรับงานระบบไฟฟ้าและระบบน้ำเย็นในสนามบินอู่ตะเภา เฟส 1 มูลค่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดโครงการอยู่ระหว่างการเจรจาเช่าที่ดินจากกองทัพเรือคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ในการหารือได้เชิญชวนให้เอนเนอร์ยี่ ไชน่า เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ (Biofuels and biochemical industries) ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็น 1 ใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งบริษัทที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงาน ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เช่น การอำนวยความสะดวกตรวจคนเข้าเมือง การถือครองที่ดิน และสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี
ปัจจุบันเอนเนอร์ยี่ ไชน่า มีบทบาทสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในประเทศจีน เป็นรัฐวิสาหกิจที่ครองส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้า 70% และรัฐบาลจีนได้มอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่ออกไปลงทุนด้านพลังงานในเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (One belt one road) โดยใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในไทยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ โดยจะลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในวงเงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์