ผู้ว่าการ รฟท. เปิดช่องซีพี ชงข้อเสนอใหม่วันที่ 5 มี.ค. เตรียมร่อนหนังสือชี้แจงรัฐบาลหากประมูลล่ม จ่อเรียกกลุ่มบีทีเอสคุย สหภาพหนุนทำเอง
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.15 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการยอมรับข้อเสนอนอกเงื่อนไขร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา (TOR) อาทิ การขยายสัมปทานและข้อเสนอสิทธิพิเศษทางการเงิน หรือการรับมอบพื้นที่ก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง เป็นต้น รวม ข้อเสนอที่ปฏิเสธไปทั้งหมด 12 ข้อ
เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวอยู่นอกเหนือร่างขอบเขตการประกวดราคา (TOR) และกระทบกับกรอบข้อเสนอโครงการ (RFP) โดยเฉพาะขัดกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
"ครม.ได้อนุมัติทีโออาร์มาให้เปิดประมูลแล้ว คงมาคุยกันนอกเงื่อนไข ไม่ได้ หลังจากนี้จะส่งหนังสือชี้แจงไปยังเอกชน ส่วนเรื่องข้อเสนอที่กลุ่มซีพีขอขยายเพดานเงินกู้ของบริษัทหรือการหาแหล่งทุนที่เหมาะสมนั้น คณะกรรมการไม่มีอำนาจพิจารณาได้" นายวรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 5 มี.ค. เวลา 14.00 น. จะเรียกเอกชนคู่เจรจาเข้ามาคุยกันอีกครั้ง ถึงเงื่อนไขที่ปฏิเสธหากมีการเจรจากันต่อนั้นจะคุยในเรื่องของข้อเสนอใหม่ที่เอกชนเตรียมมา แต่จะไม่มีการพูดถึงเรื่องข้อเสนอนอก TOR ที่ปัดตกไปอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าเจรจามาถึงจุดนี้แล้ว กลุ่มซีพีคงไม่ถอนตัวง่ายๆ แต่หากการเจรจาถึงทางตันตามกติกา RFP ได้ระบุให้เรียกเอกชนอีกรายคือ กลุ่มบีทีเอส เข้ามาเจรจาเปิดซองที่ 4 ต่อไปโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องวงเงินลงทุนโครงการที่เสนอ สูงกว่ากลุ่มซีพีราว 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงยังมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินโครงการนี้ได้ตามเป้าหมายคือลงนามสัญญาภายในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงเชื่อว่าจะได้เห็น การเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้ หรือ 6 เดือนหลังจากลงนามสัญญา
นายวรวุฒิ กล่าวว่า หากการเจรจากับกลุ่มแรกต้องจบลงก็จะส่งหนังสือชี้แจงฝ่ายนโยบายไปว่าการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยเรื่องใด อย่างเช่น เรื่องข้อเสนอนอก TOR เป็นต้น รวมถึงสรุปขั้นตอนและปัญหาทั้งหมดกับคู่เจรจา เพื่อรวบรวมส่งต่อไปยังระดับบริหาร
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ สร.รฟท. กล่าวว่า หากการเจรจาต่อรองโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินระหว่าง รฟท.กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (CP) ยังหาข้อสรุปไม่ได้นั้น สหภาพสนับสนุนให้ รฟท.ลงทุนในการดำเนินการโครงการ
ดังกล่าวเอง ถึงแม้ในเชิงพาณิชย์จะไม่มีความ คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ถือเป็นการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและเป็นประโยชน์ระยะยาวให้กับประเทศชาติด้วย
"ผมมองว่าการรถไฟฯ ควรลงทุนไฮสปีด 3 สนามบิน รวมทั้งการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เองหรืออาจจะควบคู่กันไป ถึงแม้ว่าจะไม่คุ้มแต่ผมมองว่าเป็น สิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ซึ่งรถไฟอาจจะต้องแบกรับภาระ เพราะยังไงรัฐก็ต้องมา สนับสนุนโครงการอยู่ดี" นายสาวิทย์ กล่าวอย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ สหภาพจะจัดสัมมนาชำแหละโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา