SPCG บอร์คเคาะปันผล 1.20 บาท
ตั้งเป้าปี 62 รายได้โต 7 พันลบ.

>>

SPCG ปันผลปี 2561 ที่ 1.20 บาท สูงกว่าปีผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิปี 2561 กว่า 2,923.6 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 2.70 บาท ซึ่งในครึ่งปีหลังจ่าย 0.65 บาท พร้อมประกาศแผนธุรกิจ 2562 ตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่ม 7 พันล้านบาท เติบโตต่อเนื่องจาก 2 ธุรกิจหลัก โซลาร์ฟาร์ม และ โซลาร์รูฟ ดำเนินการโดยโซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ หรือ SPR บริษัทในเครือของ SPCG

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 2,923.6 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 2.70 บาท เติบโตขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,822.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 101.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 4

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่ดี ในปีที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 จึงมีมติอนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม 2561 - วันที่ 30 มิถุนายน 2561 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายในงวดนี้ อัตราหุ้นละ 0.65 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2562 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2562 โดยการจ่ายปันผลครั้งนี้ ยังสูงกว่าเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2560 ที่ 1.15 บาทต่อหุ้น พร้อมทั้งกำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2562 เวลา 14.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น เอบี ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2562 โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 7,000 ล้านบาท เติบโตจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จำนวน 36 โครงการ ด้วยกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ และธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR บริษัทในเครือของ SPCG

ดร.วันดี กล่าวถึงธุรกิจโซลาร์รูฟในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากลูกค้ากลุ่มภาคอุตสาหกรรม (Industrial) ให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเมื่อลูกค้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ต่างเห็นผลลัพธ์ที่ดีในการลดค่าไฟฟ้าในเวลากลางวัน ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน ทำให้กิจการของลูกค้ามีกำไรเพิ่มขึ้น ธุรกิจโซลาร์รูฟของบริษัท จึงได้รับความนิยมแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะหลังการติดตั้งแล้ว สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้จริง ประกอบกับ SPR ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของ Kyocera จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน และยังมีการรับประกันถึง 25 ปีด้วย

นอกจากลูกค้ากลุ่มภาคอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าหลักแล้ว ลูกค้าในกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัย (Residential) ก็คาดว่าจะเติบโตมากเช่นกัน เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP)          ปี 2018 ในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 100 เมกะวัตต์ นอกจากจะมีส่วนช่วยในการประหยัดค่าไฟฟ้าในเวลากลางวันได้แล้ว ครัวเรือนที่สามารถผลิตหน่วยไฟฟ้าได้เกินกว่าการใช้งานยังสามารถจำหน่ายให้ภาครัฐได้ด้วย และหากประมาณการการติดตั้งให้แต่ละครัวเรือน ครัวเรือนละ 5 kWp สามารถครอบคลุมประชาชนได้ถึงปีละกว่า 20,000 ครัวเรือนทีเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและมีความต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือ Solar Roof มากขึ้นในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังขยายการลงทุนไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2561 คือโครงการ Tottori Yonago MEGA Solar Farm ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในต้นปี 2562 และ โครงการโซลาร์ฟาร์ม ณ เมืองฟูกุโอกะ ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์อีกด้วย