ดัชนีความเชื่อมั่น ม.ค. อยู่ที่ 48.0 หดตัวลง ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตร กำลังซื้อทั่วประเทศยังไม่ฟื้น แนวโน้มในอนาคตชะลอตัวรอบ13เดือน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และรองอธิการบดีฝ่ายอาวุโสวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือน ม.ค. อยู่ที่ 48.0 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ถือว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้าและไม่มีความโดดเด่น เป็นผลมาจากปัจจัยหลักสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต 6 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 49.9 ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือน
"ภาพรวมนักธุรกิจมีความกังวล ทั้งจากกำลังซื้อต่างจังหวัด การท่องเที่ยว การส่งออกที่ดีบางกลุ่ม การค้าสินค้าเกษตรยัง ไม่ดี กำลังซื้อยังไม่ดี และผู้ประกอบการมีการแข่งขันสูง กระทบต่อสภาพคล่อง" นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะเดียวกันจะต้องติดตามสถานการณ์ในเดือน ก.พ.ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งจากสถานการณ์ส่งออก และการเลือกตั้งที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยหากสถานการณ์การเลือกตั้งผ่านไปได้ด้วยดี จะมีผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจไทย และอยากให้ในระหว่างที่กำลังเตรียมการเลือกตั้ง และจะมีรัฐบาลใหม่มาบริหาร ภาครัฐเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้เดินหน้าตามปกติ เพราะจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย รวมถึงการดูแลค่าเงินบาทไทยให้เหมาะสม ซึ่งค่าเงินบาทในระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศ
ทั้งนี้ ยังประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินว่าในปี 2562 จะมีอัตราการขยายตัว (จีดีพี) มากกว่า 4% และการส่งออกขยายตัว 4-5% เป็นไปตามกรอบเดิมที่ประมาณการไว้
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละภูมิภาค ใน กทม. และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในภาวะที่ทรงตัว ส่วนในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ดัชนีปรับลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคใต้ถือว่าดัชนีต่ำสุดตั้งแต่สำรวจมา เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรเป็นหลัก ความไม่สงบในพื้นที่ และผลจากพายุปาบึก ในช่วงก่อนหน้านี้
ขณะที่ปัจจัยบวกสำคัญต่อดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ม.ค. มีทั้งการประกาศเลือกตั้ง การปลดล็อกการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนต้นปีงบประมาณของภาครัฐบาล การนำเข้าส่งออกสัญญาณเติบโต การจ้างงานในอุตสาหกรรมบริการในการดำเนินงานช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นในรอบ 5 เดือน
ด้านปัจจัยลบที่มีผล ทั้งปัญหาความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ของปีก่อน ความกังวลสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ความวิตกกังวลปัญหาค่าครองชีพอยู่ในระดับทรงตัวและราคาสินค้า การปรับตัวลดลงของการลงทุนภาคเอกชน การลดลงของการค้าชายแดน การส่งออก และความผันผวนค่าเงินบาท