อาณาจักรธุรกิจอาหาร
ตระกูล ‘มหากิจศิริ’
“มหากิจศิริ” เป็นตระกูลคหบดีที่ขยันลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มช่วง 10 ปีมานี้ โดยกิจการที่เข้าไปลงทุนมีทุกขนาด ตั้งแต่เล็กกลางใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์นำเข้าจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย อย่างเช่น Muteki ร้านอาหารญี่ปุ่น, Kyushu jangara ร้านอาหารญี่ปุ่น ประเภทราเมน, Bulgogi brothers ร้านอาหารเกาหลี, Maison de la truffe ร้านอาหารฝรั่งเศส, แฟรนไชส์พิซซ่าฮัท, แฟรนไชส์ทาโกเบลล์ อาหารจานด่วนสไตล์เม็กซิกัน, คริสปี้ ครีม ร้านขนมโดนัท, Cinnabon ร้านเบเกอรี่, Ihop ร้านเบเกอรี่ แพนเค้ก วาฟเฟิล, ปิแอร์ เฮอร์เม ปารีส ร้านขนมคุกกี้มาการอง และ Jumba juice ร้านเครื่องดื่ม น้ำผักผลไม้
ปี 2561 ที่ผ่านมา “มหากิจศิริ” เพิ่งเปิดตัวเครื่องดื่มสุขภาพ จากลำไยสกัดเข้มข้นแบรนด์ “P80” เป็นการต่อยอดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากหิ้งสู่ห้าง
การทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนสถานะทางธุรกิจของ “บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)” หรือ TTA ที่ครอบครัวตัดสินใจซื้อกิจการในปี 2554 โดยเปลี่ยนบทบาทองค์กรร้อยปี “ทีทีเอ” ที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ตั้งแต่ปี 2447 มาเป็นบริษัทประกอบธุรกิจลงทุนโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นเชิงกลยุทธ์ (a strategic investment holding company)
“ประยุทธ มหากิจศิริ” หัวหน้าครอบครัว ใช้วาระเดียวกันนี้ ผ่องถ่ายอำนาจการบริหารงาน ให้กับลูกชายคนเดียว “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” เข้ามารับช่วงต่อ
“ผมนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีเอ ต้นปี 2557 และเป็นซีอีโอบริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจของครอบครัว โดยคุณพ่อขยับขึ้นไปเป็นที่ปรึกษา” เฉลิมชัยเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ
เฉลิมชัยเข้าไปพลิกฟื้นกิจการ และออกหุ้นเพิ่มทุน 7,286 ล้านบาทในปี 2558 เพื่อรับมือกับความถดถอยในวัฏจักรธุรกิจพาณิชย์นาวี และเน้นลงทุนกระจายประเภทธุรกิจให้มีความหลากหลาย ภายใต้กลยุทธ์ใหม่คือ การขยายฐานลูกค้าใหม่ ในอาณาเขตใหม่ๆ
การเปิดน่านน้ำสากลกับธุรกิจขนส่งทางเรือ ที่ต้องอิงกับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “กำไร” กับ “ขาดทุน” อยู่แค่เอื้อม คุณสามารถรวยได้พันล้านในวันนี้ และขาดทุนเป็นพันล้านในวันถัดไป การเปิดน่านน้ำในขนาดที่เล็กลง จาก “ทะเล” มาเป็น “แม่น้ำ” ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จึงเป็นการเก็บเล็กผสมน้อย เพื่อรอโอกาสทำกำไรระยะยาว ไม่ต้องมาลุ้นระทึกกับแรงเหวี่ยงคลื่นลมในธุรกิจขนส่งทางเรือ การไหลบ่าของดิจิทัลทำให้ลำแสงที่ตกกระทบผู้คนและธุรกิจเปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าพระอาทิตย์ยังคงขึ้นทางทิศตะวันออกเหมือนเดิม แต่ทุกสิ่งเปลี่ยนไปจากเดิม
เฉลิมชัยมองว่า ดิจิทัลคือจุดเปลี่ยนของโลกใบนี้ การทำธุรกิจแบบดั้งเดิมจะต้องยกเครื่องให้เข้ากับระบบดิจิทัล ที่สำคัญต้องลืมความสำเร็จเดิมๆ ให้หมด เพราะต่อให้เอามาปัดฝุ่นแค่ไหน ก็ไม่ได้แปลว่า อนาคตข้างหน้าจะสำเร็จได้เรื่อยๆ
“ทีทีเอจะวางแผนกลยุทธ์แบบแผน 5 ปีคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งเป็นบริษัทแม่มีหลายประเภทธุรกิจ ต้องประเมินล่วงหน้าว่าแต่ละกิจการเป็นอย่างไร คู่แข่งเป็นอย่างไร ต้องปรับวิธีบริหารแบบไหนบ้าง ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” เขาบอกกับสื่อ
ทุกวันนี้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ทำรายได้ให้ทีทีเอ 10% ขณะที่ธุรกิจขนส่งทางเรือยังคงสร้างรายได้หลัก 60-70% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
ไม่แน่ว่าในยุคถัดไป ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอาจจะสร้างดอกผลกำไรให้ทีทีเอเป็นกอบเป็นกำแซงธุรกิจขนส่งทางเรือ เหมือนกับปรากฏการณ์ ปตท. ที่ถึงจุดหนึ่งกำไรจากธุรกิจกาแฟอเมซอน ทำให้ ปตท.หน้าบานได้มากกว่าธุรกิจน้ำมัน
For financial Hilights go to