เสี่ยงแค่ไหน...ที่คุณรับได้?

>> ทุกคนชอบ “ผลตอบแทน”...แต่ไม่มีใครชอบ “ความเสี่ยง” ทั้งที่ 2 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่มาพร้อมๆ กันเสมือนหนึ่งเป็นอีกด้านของเหรียญนั่นเอง แต่ลองมองดูตัวคุณเองเป็นปฐม...แล้วขยับมองดูนักลงทุนรอบข้างตัวคุณดูก็ได้ ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง ‘ผลตอบแทน’ และ ‘ความเสี่ยง’

ทุกคนชอบ ผลตอบแทน”...แต่ไม่มีใครชอบ ความเสี่ยง ทั้งที่ 2 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่มาพร้อมๆ กันเสมือนหนึ่งเป็นอีกด้านของเหรียญนั่นเอง แต่ลองมองดูตัวคุณเองเป็นปฐม...แล้วขยับมองดูนักลงทุนรอบข้างตัวคุณดูก็ได้ ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง ผลตอบแทน และ ความเสี่ยง

จะฝากแบงก์ ก็ดอกเบี้ยเท่าไร? ฝากกี่ปี? จะซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ก็ผลตอบแทนเท่าไร? ลงทุนกี่ปี? มีมั้ย...ผลตอบแทนสูงๆ แต่ขอไม่เสี่ยงนะ!!!! ที่คิดว่า...มีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงไม่มี ก็ต้องรวมตัวไปแจ้งความกันตามที่เป็นข่าวปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยๆ นั่นไง

การลงทุนมีความเสี่ยงทั้งนั้น จะ มาก หรือ น้อยเท่านั้นเอง ฝากแบงก์เสี่ยงนะ ใครทัน วิกฤติต้มยำกุ้งคงยืนยันได้เป็นอย่างดี

ในโลกการลงทุน ความเสี่ยงถือเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คล้ายกับ ความตายและ ภาษี ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม เงินฝากแค่ทำให้คุณรู้สึกสบายใจในระยะส้นเท่านั้น แต่ก็จะเป็นเหตุแห่งความเสี่ยงที่จะทำให้คุณมีเงินไม่เพียงพอสำหรับชีวิตในวัยเกษียณได้เช่นกัน

ถ้าเลี่ยงไม่ได้...ลองขยับสู่ความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวเองดูดีกว่ามั้ย อาจจะดูเสี่ยงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว...อาจทำให้คุณไม่เสี่ยงกับชีวิตยามเกษียณที่ลำบากก็ได้

การเริ่มต้นการลงทุนด้วยเรื่องของ ความเสี่ยงอาจเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย แต่ถือเป็น จุดเริ่มต้น ของการลงทุนที่ดีเลยทีเดียว ภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า... รู้เขา รู้เรา 100 รบ มิมีพ่าย

ดังนั้น การเริ่มต้นจากการประเมินความเสี่ยงที่คุณเองสามารถจะรับได้ โดยดูจาก ปัจจัยภายนอก เป็นองค์ประกอบในการชี้วัดระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถจะรับได้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้คุณพอมองเห็นภาพได้คร่าวๆ เช่นกัน


 

อายุจะเป็นตัวที่บอกถึงระยะเวลาลงทุนของตัวคุณเอง

ถ้าคุณมี อายุน้อย ก็ยังเหลือเวลาลงทุนอีกมาก หากลงทุนผิดพลาดไปก็ยังมีโอกาสแก้ตัวได้ เพราะมีเวลาที่คุณจะหารายได้มาชดเชยเพื่อที่จะฟื้นกลับขึ้นมาได้มาก จึงเป็นกลุ่มนักลงทุนที่สามรารถจะรับความเสี่ยงได้สูง

ในทางตรงข้ามหากคุณมี อายุมาก แล้ว โอกาสแก้ตัวก็จะมีน้อย ความสามารถในการรับความเสี่ยงก็จะน้อยลงหากเกิดความผิดพลาดในการลงทุนขึ้นมา เวลาที่คุณจะหารายได้มาชดเชยเพื่อที่จะฟื้นกลับขึ้นมาได้จะน้อยลงนั่นเอง

 

รายได้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายประจำ

  • กรณีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหากดูรายได้สุทธิ (เงินเดือน-ค่าใช้จ่ายรายเดือน) ถ้ามี เหลือมากความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณก็จะสูง
  • ในทางตรงข้ามถ้ารายได้สุทธิออกมา ติดลบ หรือ เหลือน้อย ในลักษณะนี้แล้ว ความสามารถในการับความเสี่ยงของคุณก็จะน้อยลงไป เพราะยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินไปจุนเจือกับค่าใช้จ่ายให้เพียงพอนั่นเอง หากเกิดผิดพลาดในการลงทุนขึ้นมาอาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ แนวคิดนี้ถ้าจะประยุกต์มาใช้กับพนักงานรายวันก็คงไม่ต่างกันมากนัก

 

ความผันผวนของรายได้อาชีพแต่ละอาชีพ รูปแบบของรายได้ที่ได้รับมาจะไม่เหมือนกัน ถ้ามีความผันผวนของรายได้น้อยก็สามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนที่มีรายได้ผันผวน เช่น

  • มนุษย์เงินเดือนอาจจะถือว่ากระแสรายได้มีความผันผวนน้อยกว่ากลุ่มคนในอาชีพอื่น  
  • เกษตรกรที่รายได้มาเป็นฤดูกาล หรือผู้ที่มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นช่วงไหนขายดีก็ได้มาก ช่วงไหนขายไม่ดีก็ได้น้อย ความผันผวนของรายได้ก็จะมากขึ้นมาอีกระดับ
  • คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง รายได้อาจจะวูบวาบ บางช่วงอาจจะขายไม่ดี อาจจะไม่มีรายได้ไป 2-3 เดือน แบบนี้ความผันผวนของรายได้ก็จะสูงขึ้น

 

สถานะครอบครัวจะคล้ายกันกับการดู รายได้สุทธิ แต่มองในระดับครอบครัว

โดยพิจารณาจากรายได้ของครอบครัวเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของครอบครัวแล้วเป็นอย่างไร หากรายได้เมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครอบครัวแล้ว ถ้ามีภาระมาก เช่น ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นสัดส่วนภาระผูกพันที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้โดยรวมของครอบครัวแล้ว คุณก็เสี่ยงได้น้อย

เพราะสิ่งที่คุณไปลงทุนเกิดขาดทุนขึ้นมาอาจจะไปกินเงินส่วนที่จำเป็นสำหรับภาระในอนาคตของครอบครัวคุณได้ เช่นเงินผ่อนบ้าน เงินเลี้ยงบุตร เป็นต้น แต่ถ้าครอบครัวมีรายได้สุทธิเหลือมากก็จะสามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ประสบการณ์ในการลงทุนในมิติของประสบการณ์ในการลงทุนนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับระดับของการศึกษาแต่ประการใดแต่โฟกัสไปในเรื่องของสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เป็นการลงทุน โดยตรงหรือลงทุน ทางอ้อม ผ่านเครื่องมืออย่าง กองทุนรวมตรงนี้ก็จะมีนัยที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน

หากทั้งชีวิตที่ผ่านมา นอกจากเงินฝากธนาคารแล้งคุณยังไม่เคยลงทุนประเภทอื่นเลย ความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณก็จะน้อยกว่าคนที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านตลาดหุ้น 1,700 จุด ลงมาเหลือ 200 จุด แน่นอน

นอกจากนี้ ประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจจะหมายถึงความหลากหลายของการลงทุน รู้จักการลงทุนต่างๆ รู้จักผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็จะทำให้ผู้นั้นสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ความมั่งคั่งเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญหากคุณเป็นคนที่มีความ มั่งคั่งมากจะมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้สูงกว่าคนที่มีความ มั่งคั่งน้อย

  • ลองนึกภาพตามหากคุณมีความมั่งคั่ง 100 ล้านบาท ลงทุนหุ้นปันผลที่อัตราปันผลเฉลี่ยแค่ 3% 
  • คนที่มีความมั่งคั่ง 100,000 บาท ลงทุนในหุ้นปันผลเหมือนกันทุกประการ สมมติลงทุนไปครบ 1 ปี ได้ปันผล 3% เท่ากัน
  • คนความมั่งคั่ง 100 ล้านบาท ได้ปันผลไป 3 ล้านบาท (เฉลี่ย 250,000 บาทต่อเดือน)
  • คนความมั่งคั่ง 100,000 บาท ได้ปันผล 3,000 บาท (เฉลี่ย 250 บาทต่อเดือน)

 

โชคร้ายวันหนึ่งข่าวร้ายมากระทบตลาด หุ้นที่ลงทุนโชคร้ายร่วงไป 10% คนมีความมั่งคั่ง 100 ล้านบาท เงินหายไป 10 ล้านบาท แต่ลงทุนในหุ้นระยะยาวช่วยชดเชยความผันผวนได้ ถือไปครบปีก็ได้ปันผลมาใช้แล้ว ลงไปมากกว่านี้ก็ยังรับไหว

แต่คนความมั่งคั่ง 100,000 บาท เงินหายไป 10,000 บาท คงอยู่ยากแล้ว ให้ถือยาวไปไม่รู้ว่าปันผลที่ได้จะพอชดเชยผลขาดทุนหรือเปล่า จึงทำให้คนที่มีความมั่งคั่งมากกว่าสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้มากกว่าด้วยนั่นเอง

มาถึงจุดนี้ คุณลองทบทวนดูตัวเองอีกครั้งก็ได้ บางคนอาจจะพบว่า...ตัวเองยังสามารถขยับไปสู่การลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่าในปัจจุบันก็ได้ หรือพบว่า...ตัวเองเสี่ยงมากไปแล้วก็เป็นไปได้เช่นกัน ก็ค่อยๆ ปรับขยับเข้าสู่การลงทุนที่มีระดับของความเสี่ยงให้เหมาะสมกับตัวเองก็แล้วกัน เพราะคุณเท่านั้น...ที่รู้จักตัวเองดีที่สุดนะ