คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : The Mall Transformation จาก ‘ค้าปลีก’ สู่ ‘มหัศจรรย์บันเทิง’
>>
การปักธงผืนใหม่ของเดอะมอลล์ จากจุดยืน “ธุรกิจท้องถิ่น” (local company) สู่ “บรรษัทข้ามชาติ” (multinational company) โดยประกาศร่วมทุนกับ AEG ผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงจากอเมริกา เจ้าของรายการแกรมมี่อวอร์ด และลิขสิทธิ์กีฬาดังระดับโลก
ทำให้โมเดลธุรกิจเดอะมอลล์เปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิม
“ศุภลักษณ์ อัมพุช” ราชินีแห่งเดอะมอลล์ พยายามสร้างภาพจำใหม่ให้ผู้คนว่า เดอะมอลล์จะไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าอีกต่อไป แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ที่รวมศูนย์ความบันเทิงทุกรูปแบบไว้ด้วยกัน
เธอเรียกการเปลี่ยนผ่านในวาระสำคัญนี้ว่า “M Transformation”
M Transformation เป็นผลึกความคิดที่จะนำพาเดอะมอลล์ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงในยุคพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (disruption) จากการมองว่านับวันเส้นแบ่งระหว่างค้าปลีกออฟไลน์ (โลกจริง) กับค้าปลีกออนไลน์ (โลกเสมือน) เริ่มจางลง
นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่างลาซาด้าถึงต้องกรุยทางหาพื้นที่ค้าปลีกเพื่อเข้าให้ถึงลูกค้าตัวเป็นๆ ขณะที่ห้างใหญ่โตอย่างเดอะมอลล์ ก็ต้องทำตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสังคมออนไลน์ 24/7
“อนาคตของค้าปลีกต่อจากนี้ ถึงอย่างไรค้าปลีกแบบ Brick-and-mortar (ดั้งเดิม) จะยังคงอยู่ และไม่หายไปไหน หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า” ศุภลักษณ์เล่า
การผสาน “เทคโนโลยีดิจิทัล” กับ “ค้าปลีก”
ประสบการณ์ใหม่ที่ว่า คือการผสาน “เทคโนโลยีดิจิทัล” กับ “ค้าปลีก” เข้าด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการให้บริการลูกค้า ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ห้างค้าปลีกในนิยามใหม่ ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
จากนี้ไปอีก 5 ปีเราจะได้เห็นเดอะมอลล์ ในมุมที่เปลี่ยนไป หลังเปิดให้บริการ EM LIVE ARENA สนามกีฬาขนาดความจุ 6,000 ที่นั่ง ในปี 2565 อยู่ในศูนย์การค้า THE EMSPHER ศูนย์การค้าน้องใหม่ในกลุ่ม THE EM DISTRICT
ซึ่งจะเปิดตัวพร้อมกับ BANGKOK ARENA ในโครงการ BANGKOK MALL อภิมหาโปรเจกต์ของเดอะมอลล์โซนสี่แยกบางนา ความจุขนาด 16,000 ที่นั่ง โดยทั้ง 2 แห่งจะเป็น ARENA ที่ทันสมัยและมีมาตรฐานเดียวกับ ARENA สำคัญๆ ระดับโลก ที่ใช้จัดคอนเสิร์ต และ WORLD-CLASS EVENT
สนามกีฬาทั้งสองแห่งถือเป็น topping สำคัญ ที่ทำให้เมนูธุรกิจเดอะมอลล์ มีสีสันเร้าใจขึ้น ดูมีชีวิตชีวา ปนความสนุกสนานในแบบที่เดอะมอลล์เป็น
บางกอก อารีน่า
“ความบันเทิงเป็นอะไรที่จะไม่ถูก disrupt เราต้องสร้างแรงดึงดูดใหม่ๆ ให้คนอยากมาใช้เงิน ที่ไม่ได้แค่การช้อปปิ้ง เป้าหมายใหญ่ของเดอะมอลล์ เราต้องการเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็นศูนย์กลางความบันเทิง (Hub of Entertainment) ซึ่งต้องอาศัยสิ่งที่คนสร้างขึ้น เมืองไทยจะพึ่งแต่การท่องเที่ยวที่อิงแต่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียวไม่ได้”
ดังนั้นแล้ว ในขณะที่ภาพธุรกิจของเดอะมอลล์ ต้องการสร้างพื้นที่การแข่งขันรูปแบบใหม่ แต่ในแง่มหภาคแล้ว เดอะมอลล์ต้องการอัพเกรดกรุงเทพฯและประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวที่สำคัญในระดับภูมิภาค แข่งเทียบชั้นกับมหานครของโลกอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง นิวยอร์ก ปารีส และลอนดอน
เดอะมอลล์เห็นแนวโน้มว่าศูนย์การค้าไม่ได้มีดีแค่ช้อปปิ้ง แต่สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดี จากประสบการณ์บริหารสยามพารากอนโมเดล ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงสุด จนค้าปลีกต่างประเทศขอมาดูงาน และเอาโมเดลนี้ไปลงทุนต่อ เพราะถือเป็นค้าปลีกมหัศจรรย์ที่สามารถรวมเอาความหรูหรา ความบันเทิง ความเป็นแมส และการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต มาอยู่รวมกันในหลังคาเดียวได้
“คนไม่ได้มาซื้อหลุยส์ วิตตอง ได้ทุกวัน แต่คนสามารถเข้าๆ ออกๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตได้ทุกวัน”
วิชั่นของเดอะมอลล์ ไม่ได้ทำแค่ศูนย์การค้าใหม่ หรือห้างใหม่ แต่ทุกโครงการที่ทำ จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นสิ่งที่เมืองไทยไม่มี เหมือนสยามพารากอนที่มีที่เดียว และเป็นเพชรน้ำงามเพียงหนึ่งเดียว
ศุภลักษณ์บอกว่า หลักการพัฒนาค้าปลีก จะต้องบาลานซ์ความเป็นมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่เน้นเรื่องจิตใจหรือความสุข เพราะถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะสำคัญ แต่ก็เปลี่ยนทุกวัน และไม่ยั่งยืน ตามอย่างไรก็ไม่ทัน จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกให้เป็นสถานที่เปิด เป็นพื้นที่ของการใช้ชีวิตมนุษย์ และให้ประสบการณ์ใหม่ๆ
เส้นทางธุรกิจของเดอะมอลล์
เส้นทางธุรกิจของเดอะมอลล์ มีจุดเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นของหัวหน้าครอบครัว “ศุภชัย อัมพุช” ที่อยากสร้างธุรกิจให้ลูกๆ ช่วยกันดูแล
ก่อนที่ห้างเดอะมอลล์จะตั้งลำ ศุภชัยเคยลงทุนทำธุรกิจโรงหนัง ธุรกิจไนต์คลับ และธุรกิจอาบอบนวด ที่กลายเป็นตำนานไม่รู้จบบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่
ทั้งโรงหนัง ไนต์คลับ อาบอบนวด และศูนย์การค้า ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่ศุภชัยไม่เคยทำมาก่อน แต่ด้วยสัญชาตญาณเถ้าแก่ แค่มองเห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า แล้วจะรออะไรอีก
บทเรียนจากความล้มเหลวที่สาขาแรก เดอะมอลล์ ราชดำริ ที่อยู่ติดกับ ไดมารู ราชดำริ สมัยนั้น ทำให้ศุภชัยและลูกๆ สามารถผงาดอาณาจักรธุรกิจเดอะมอลล์ รามคำแหง ในเวลาต่อมาได้ และกลายเป็นกลยุทธ์ทำเลทอง ที่เดอะมอลล์ใช้ขยายออกไปทุกทิศทุกทางของกรุงเทพฯ
เดอะมอลล์ถือเป็นหนึ่งในมหัศจรรย์ธุรกิจ ที่โตจากชานเมือง แล้วมายิ่งใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมือง และกำลัง evolve (อีโว) ธุรกิจ จากค้าปลีกสู่มหกรรมบันเทิงเต็มรูปแบบ
ธรรมชาติ ธุรกิจ และชีวิตของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช”
“ศุภลักษณ์ อัมพุช” เป็นซีอีโอสายติสท์ ที่หลงใหลธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ ทุกศูนย์การค้าของเดอะมอลล์ จะต้องมีต้นไม้เป็นพระเอก
ถ้าศูนย์การค้าไหน ยกน้ำตกมาตั้งได้ เธอจะไม่รีรอ แม้แต่ยกทะเลมาไว้ในศูนย์การค้าใจกลางเมืองเธอก็ทำมาแล้ว ยิ่งบ้านของเธอเอง ยังเนรมิตให้เป็นป่าอเมซอนซะงั้น
ศุภลักษณ์รักต้นไม้มว๊ากก... ขนาดไปตระเวนเลือกต้นไม้จากแหล่งด้วยตัวเอง กำกับดูแลต้นไม้ที่เอามาลง ใส่ใจรายละเอียดยิ่งกว่าผู้กำกับละครเสียอีก
“เดอะมอลล์ ต้องมีปลา มีสวน เป็นแรงบันดาลใจที่เราชอบ” เธอเคยบอกกับสื่อ
ศุภลักษณ์กลัวเข็มฉีดยาที่สุดในโลก มารู้ตัวตอนที่หลวมตัวไปเรียนแพทย์ ที่มหิดลอยู่ปีนึง เจอผ่าศพ ผ่ากบ เธอกระเด็นไปเรียนเภสัชแทน แทบไม่ทัน
พอมาทำงานที่เดอะมอลล์ เธอก็รู้ตัวว่า ไม่มี passion ในธุรกิจเอาซะเลย แต่ละวันกลับไปหลงใหลได้ปลื้มงานออกแบบ งานสถาปนิก งานท่องเที่ยว และงานบันเทิง ไปเสียนี่
ไหนๆ ก็ไหนๆ ธุรกิจของครอบครัว จะละทิ้งไปไม่ได้ คุณพ่ออุตส่าห์เหนื่อยยากมาขนาดนี้ เธอก็เลย mixed-use ธรรมชาติ ธุรกิจ และชีวิตของเธอ ให้มันเข้ากันเสียเลย
ขณะที่ประสบการณ์ในธุรกิจโรงหนัง ไนต์คลับ และอาบอบนวด ของศุภชัยผู้เป็นพ่อ ถูกดึงมาใช้กับธุรกิจศูนย์การค้าอย่างเต็มที่ แต่ความแปลกใหม่ในบางแง่มุมของความบันเทิง กลับมาจากตัวตนของศุภลักษณ์ผู้เป็นลูก ที่มีโลกทัศน์กว้างไกล และพบเห็นสิ่งต่างๆ มาทุกมุมโลก
ยิ่งเวลาผ่านไป ประสบการณ์ชีวิต และความเฉียบคมทางธุรกิจ ยิ่งเชี่ยวกราก
“การเดินทางท่องเที่ยวช่วยกล่อมเกลาให้เราเป็นคนสงบเยือกเย็นมากขึ้นด้วย บางครั้งก็ทำให้เรามองเห็นลู่ทางธุรกิจ”
สมัยเรียนอเมริกา เธอย่ำจนรองเท้าสึกแทบทุกรัฐ สุดท้ายก็เทใจให้กับ รัฐโคโรลาโด ที่มีทั้งต้นไม้ภูเขา และสัตว์ป่า ตอนลงทุนสร้างสยามพารากอน เธอก็เลยจัดเต็มพื้นที่สีเขียว นัยว่า อยากให้คนได้เห็นต้นไม้สวยๆ ที่ซีอีโอคัดมาอย่างดีแล้ว
การอัพเลเวลธุรกิจจากค้าปลีกสู่ธุรกิจบันเทิงและท่องเที่ยว ดูเหมือนว่าจะยิ่งเปิดโอกาสให้เธอได้ทำในสิ่งที่รักมากขึ้น จากการพัฒนาโครงการบลูเพิร์ล ภูเก็ต ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในฐานะไข่มุกแห่งเอเชีย
อีกทางหนึ่งก็พัฒนาธุรกิจบันเทิงในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีโอกาสทำเงินได้มากกว่าการชูจุดขายทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียว
การผสมผสานมุมมองทางธุรกิจ เข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต จึงเป็นอีกสูตรธุรกิจที่ผู้หญิงเหล็กคนนี้ปรุงออกมาได้กลมกล่อม และเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเดอะมอลล์กรุ๊ป