นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ว่า การเจรจาคืบหน้าไปมากแล้ว หากสามารถเคลียร์เงื่อนไขทางการเงินอีก 3-4 ข้อ ที่ขอให้เอกชนผ่อนคลายข้อเสนอลงได้ ก็จะทำให้การเจรจามีความคืบหน้ามากกว่า 70-80%
ทั้งนี้เพราะการพูดคุยกันในครั้งนี้ ทางเอกชนหรือกลุ่มซีพียอมผ่อนคลายข้อเสนอนอกขอบเขตการประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ ขณะนี้ผ่อนคลายไปแล้ว 8-9 ข้อ อาทิ เรื่องการขอขยายอายุสัมปทานยาวเป็น 99 ปีนั้น ขณะนี้ได้ปรับข้อเสนอกลับมายืนสัมปทานที่ 50 ปี ตามที่ทีโออาร์กำหนดไว้เดิม แต่หากในอนาคตได้มีการดำเนินธุรกิจครบสัมปทานแล้ว หากรัฐจะดำเนินกิจการต่อก็สามารถคุยกับทางซีพีรับสัมปทานต่อได้
สำหรับเงื่อนไข 3-4 ข้อที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในครั้งนี้ เป็นเรื่องของเงื่อนไขทางด้านการเงิน ที่ทางซีพีต้องเจรจากับสถาบันการเงิน 3 แห่งในประเทศไทยจีน และญี่ปุ่น เรื่องการกู้เงินมาดำเนินโครงการ โดยทางซีพีรับปากว่าจะเจรจาอย่างเร็วภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าสุดคาดจะทราบผลได้ภายในต้นสัปดาห์หน้า
ขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีนัดประชุมภายในวันที่ 28 มี.ค.นี้หากเป็นไปได้ด้วยดีน่าจะเจรจากันจบก่อนกลางเดือน เม.ย. เพื่อลงนามสัญญากันต่อไป
ด้านการเจรจากับเอกชนที่ได้คะแนนอันดับที่ 2 คือกลุ่มบีทีเอส คงต้องพักไว้ก่อนเพื่อรอข้อสรุปของกลุ่มซีพี และระหว่างนี้จะไม่มีการเจรจาซ้อนสองกลุ่ม
นายวรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเลือกตั้งและช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่กำลังรออยู่ข้างหน้านั้น ทางนักลงทุนและรัฐบาลต่างประเทศเกรงว่าจะกระทบกับโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน 2 เส้น มูลค่ารวม 4 แสนล้านบาทโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท
ซึ่งฝ่ายจีนเกรงว่าหากนโยบายเปลี่ยนจะมีการยกเลิกความร่วมมือโครงการดังกล่าว เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆด้านธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือเจบิก (JBIC)ซึ่งเป็นพันธมิตรลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี ทางเจบิกแสดงความกังวลถึงแนวทางเจรจาโครงการที่อาจกระทบหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น รฟท.จึงได้ชี้แจงไปว่าขอให้มั่นใจในรัฐบาลไทย
แหล่งข่าวจากวงการคมนาคม เปิดเผยว่า เงื่อนไขทางการเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ผ่านมา ทางสถาบันการเงินเรียกดอกเบี้ยสูงตามความเสี่ยงโครงการ ที่ผ่านมาเอกชนจึงพยายามขอให้รัฐช่วยรับประกันในรูปแบบต่างๆ การเจรจาจึงยืดเยื้อ