คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : เซ็นทรัล VS. เดอะมอลล์ สองคมธุรกิจค้าปลีก
>> ทั้ง “เซ็นทรัล” และ “เดอะมอลล์” ต่างก็อยู่ในช่วงของการปรับตัว เพื่อเข้าสู่โหมดธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ท่ามกลางคลื่นลมแรง และพายุ disruption พาดผ่าน
ทั้ง “เซ็นทรัล” และ “เดอะมอลล์” ต่างก็อยู่ในช่วงของการปรับตัว เพื่อเข้าสู่โหมดธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ท่ามกลางคลื่นลมแรง และพายุ disruption พาดผ่าน
ที่ผ่านมา “เซ็นทรัล” พยายามเปลี่ยนตัวเองในทุกทิศทาง ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ยอมรับในสิ่งใหม่ๆ เอาความรู้ที่มีอยู่เดิม ผสมเข้ากับความรู้ใหม่ แล้วดัดแปลงให้ถูกจริตองค์กร
ขณะที่ “เดอะมอลล์” ก็ตกผลึกความคิดตัวเอง รู้ว่าต้องการอะไร แล้วจะเดินไปทางไหน และหาคำตอบให้ตัวเองชัดเจนว่า จะเลี้ยงตัวอย่างไร ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำกับเทคโนโลยีที่กำลังเขย่าโลก
“เซ็นทรัล” และ “เดอะมอลล์” ถือเป็นมวยคู่เอกที่กินกันไม่ลง เก่งด้วยกันทั้งคู่ มีดีกันคนละแบบ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในห้วงเวลานี้ จึงน่าสนใจว่าทั้งคู่จะ up level สะสมพลังค้าปลีกให้ตัวเองได้อย่างไร
เซ็นทรัล >> Tech Company
เซ็นทรัลอยู่ระหว่างฟิตซ้อมธุรกิจสู่องค์กรรูปแบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยี (Tech Company) สำหรับ “ทศ จิราธิวัฒน์” แม่ทัพค่ายเซ็นทรัลแล้ว ธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมๆ มันล้าสมัยเหมือนเสื้อผ้าตกรุ่น
องค์กรจำเป็นต้องกลับเข้าสู่โหมดการเรียนรู้อย่างเข้มข้น เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเซ็นทรัลจะยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ค้าปลีกเอาไว้ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ปีสองปีมานี้เซ็นทรัลจึงทุ่มไม่อั้น ขยายการลงทุนทุกรูปแบบ กับทั้งยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ “jd.com” จากจีน และซื้อกิจการ“แกร็บ ประเทศไทย” จากบริษัทแม่ที่สิงคโปร์ เพื่อให้ธุรกรรมค้าปลีกออนไลน์ในเครือเซ็นทรัลติดสปีด ไม่ครึ่งๆ กลางๆ เหมือนตอนที่ศึกษาด้วยตัวเอง
พร้อมกับประกาศยุทธศาสตร์ออนไลน์ครั้งแรกในปี 2560 ว่า เซ็นทรัลจะผสานแนวคิด “Digital Centrality” เชื่อมโยงลูกค้าในโลกจริง (ออฟไลน์) กับโลกเสมือน (ออนไลน์) เข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า “Omni Chanel”
“โลกมีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า มานานนับศตวรรษ แต่อนาคตอันใกล้ก็ต้องเป็นออนไลน์ โลกธุรกิจค้าปลีกในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยจะขมวดการเปลี่ยนแปลง เทียบเท่ากับการใช้เวลา 50 ปีในอดีต”
ปีถัดมา 2561 เซ็นทรัลเดินเกมออนไลน์ต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์ “New Central, New economy” หรือแผนแม่บทเซ็นทรัลระหว่างปี 2561-2565 เพื่อนำพาอนาคตใหม่ สู่การเป็นผู้นำทางด้าน “Digi-Lifestyle Platform” ผ่านการขับเคลื่อนใน 3 มิติสำคัญ คือ
- ข้อมูล (Data) ลูกค้าจากทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมลูกค้าเชิงลึก
- ลอยัลตี้และการตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล (Loyalty & Personalized Experience) ผ่านเดอะวันการ์ด เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับลูกค้า
- ออมนิแชแนลแพลตฟอร์ม (Omni channel Platform) พัฒนาให้ทุกธุรกิจในเครือของกลุ่มเซ็นทรัล ก้าวเข้าสู่โหมดเดียวกันคือ ประสบการณ์การจับจ่ายที่ไหลลื่นทั้งโลกจริงและโลกเสมือน
ทั้ง “jd.com” และ “แกร็บ ประเทศไทย” จึงเป็นทางลัด ที่ช่วยให้เซ็นทรัลมีฐานที่มั่นในธุรกรรมออนไลน์
ได้เป็นเจ้าของชุดแพลทฟอร์ม อย่าง อี-โลจิสติกส์, อี-ไฟแนนซ์, อี-เพย์เมนท์, อี-ไฟแนนเชียล, อี-คอมเมิร์ซ และ อี-ทรานสปอร์ต ที่ช่วยส่งเสริมระบบปฏิบัติการค้าปลีกเซ็นทรัลให้เดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ
ตั้งแต่ปี 2556-2560 กลุ่มเซ็นทรัลมีอัตราการเติบโตทางด้านยอดขายเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยมากกว่า 11% แบ่งเป็นยอดขายในประเทศไทย 72% ยอดขายในยุโรป 15% และยอดขายในประเทศเวียดนาม 13%
ปี 2561 เซ็นทรัลตั้งเป้ายอดขายราว 397,308 ล้านบาท และยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า
เดอะมอลล์ >> The Entertainment Company
เดอะมอลล์เชื่อว่า ธุรกิจบันเทิงจะไม่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค disruptive ดังนั้นบริษัทจึงพยายามกรุยทางมาหลายปี เพื่อให้เดอะมอลล์ก้าวสู่โลกความบันเทิงเต็มรูปแบบ
“โลกของความบันเทิง มีมากกว่าการช้อปปิ้ง เราต้องเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็นศูนย์กลางความบันเทิง (Hub of Entertainment) เป็นภารกิจที่เดอะมอลล์อยากสร้างให้เกิดขึ้น เพราะเมืองไทยเราจะอาศัยแค่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว” ศุภลักษณ์ อัมพุช ราชินีแห่งเดอะมอลล์ บอก
เธอเชื่อว่า ค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังไม่ได้หายไปไหน ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะสำคัญ แต่มันก็เปลี่ยนทุกวัน ตามอย่างไรก็ไม่ทัน สิ่งสำคัญมากกว่าสำหรับเดอะมอลล์คือ จะทำอย่างไรที่จะสร้างค้าปลีกให้เป็นพื้นที่เปิด ให้คนได้มาใช้ชีวิต และมีประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกัน ถึงจะเรียกว่าเป็นหลักการพัฒนาค้าปลีกที่แท้จริง คือต้องบาลานซ์ความเป็นมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่เน้นเรื่องของจิตใจเป็นสำคัญ
ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา เดอะมอลล์เพิ่งสลัดภาพลักษณ์จาก “ธุรกิจท้องถิ่น” สู่ “บรรษัทข้ามชาติ” โดยประกาศร่วมทุนกับ AEG ผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงจากอเมริกา เจ้าของรายการแกรมมี่อวอร์ด และลิขสิทธิ์กีฬาดังระดับโลก สร้างสนามกีฬา EM LIVE ARENA ให้เป็นแม่เหล็กแห่งความบันเทิงขนาดใหญ่ ความจุ 6,000 ที่นั่ง ในศูนย์การค้า THE EMSPHER ซึ่งเป็นน้องใหม่ในกลุ่ม THE EM DISTRICT มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2565 นี้
โดยจะเปิดตัวพร้อมกับสนามกีฬา BANGKOK ARENA ขนาดความจุ 16,000 ที่นั่ง ในโครงการ BANGKOK MALL อภิมหาโปรเจกต์ของเดอะมอลล์ โซนสี่แยกบางนา ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในเวลาไล่เลี่ยกัน
โดยทั้ง 2 แห่งจะเป็น ARENA ที่ทันสมัยและมีมาตรฐานเดียวกับ ARENA สำคัญๆ ระดับโลก ที่ใช้จัดคอนเสิร์ต และ WORLD-CLASS EVENT
เดอะมอลล์เรียกการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบก้าวกระโดดครั้งนี้ว่า “M Transformation” และสร้างภาพจำใหม่ให้ผู้คนว่า เดอะมอลล์จะไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าอีกต่อไป แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ที่รวมศูนย์ความบันเทิงทุกรูปแบบ
“เราจะส่งมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ากับ ธุรกิจค้าปลีก สร้างความหมายให้กับห้างค้าปลีกในนิยามใหม่ เพื่อให้ไทยเรากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แข่งขันกับมหานครของโลกอย่าง เซียงไฮ้ ปักกิ่ง นิวยอร์ก ปารีส และลอนดอนได้”
ทั้ง THE EM DISTRICT และ BANGKOK ARENA เป็นการต่อยอดความสำเร็จจาก “สยามพารากอนโมเดล” ที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายในฐานะแหล่งท่องเที่ยวชั้นดี ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกมาเยี่ยมเยือน
เป็นค้าปลีกมหัศจรรย์ที่รวมเอาความหรูหรา ความบันเทิง และของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน มาอยู่ร่วมในหลังคาศูนย์การค้าเดียวกันได้ จนกลายเป็นแบบอย่างให้นักลงทุนหลายประเทศเดินตาม
เซ็นทรัล VS. เดอะมอลล์
ทั้ง “เซ็นทรัล” และ “เดอะมอลล์” อยู่ระหว่างเดินตามแผนธุรกิจ 5 ปี เซ็นทรัลเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า “New Central, New economy” ส่วนเดอะมอลล์เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “M Transformation”
“New Central, New economy” มีเป้าหมายเพื่อสถาปนาเซ็นทรัลให้เป็นผู้นำทั้งในด้านเทคโนโลยีและผู้นำดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม
“M Transformation” เป็นการต่อยอดธุรกิจค้าปลีกเดอะมอลล์ ให้กินอาณาเขตกว้างขึ้น ครอบคลุมถึงธุรกิจบันเทิง
สองยักษ์ค้าปลีกคู่นี้ ต่างใช้เงินมือเติบทั้งคู่ โดยเฉพาะในช่วงผลัดใบธุรกิจสู่ดิจิทัล โดยเซ็นทรัลใช้เงินไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาทลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ ขณะที่เดอะมอลล์ใช้เงินลงทุน 8 หมื่น-1 แสนล้านบาท เพื่อนำพาเดอะมอลล์กรุ๊ปสู่ความเป็นหนึ่งในวงการค้าปลีกไทย
น่าสนใจว่าอีก 5 ปีจากนี้ ผู้ท้าชิงอย่างเดอะมอลล์จะโค่นแชมป์เซ็นทรัลลงได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบจากยอดขาย ปัจจุบันเซ็นทรัลมียอดขายเกินแสนล้านบาทไปไกลแล้ว แต่เดอะมอลล์ยังมียอดขายไม่แตะแสนล้านบาทดี ถ้าธุรกิจบันเทิงเป็นตัวแปร ช่วยเกณฑ์ความมั่งคั่งให้กลุ่มเดอะมอลล์ในอนาคต ถึงเวลานั้น เกมค้าปลีกคงเปลี่ยน
ทั้งเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ ต้องการสร้างประสบการณ์ค้าปลีก ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทั้งคู่ แต่ดูเหมือนเซ็นทรัลจะอินกับโลกออนไลน์มากกว่า เลยไปจับคู่กับยักษ์อีคอมเมิร์ซและธุรกิจแพลทฟอร์ม ขณะที่เดอะมอลล์มองว่า วิ่งตามเทคโนโลยียังไงก็เหนื่อยเปล่า สู้หาฐานที่มั่นที่เทคโนโลยีแตะต้องลำบากอย่างธุรกิจบันเทิงจะดีเสียกว่า
เซ็นทรัลได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งค้าปลีก ขณะที่ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ก็เป็นราชินีแห่งเดอะมอลล์
ฝันของเดอะมอลล์ เล็งดาวคนละดวงกับเซ็นทรัล เดอะมอลล์ให้คุณค่ากับจิตใจ และมองเทคโนโลยีว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้ผู้คนมีความสุข ขณะที่เซ็นทรัลให้น้ำหนักกับสุดยอดบริการ ผ่านเทคโนโลยี และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครตามใจลูกค้าเท่ากับเซ็นทรัลอีกแล้ว
เซ็นทรัลปักธงค้าปลีกตั้งแต่วันแรกที่เปิดกิจการ ผ่านมาถึงวันนี้ เซ็นทรัลก็ยังเป็นเซ็นทรัลที่โดดเด่นในเรื่องของช้อปปิ้ง ขณะที่เดอะมอลล์เป็นนักพัฒนาที่จับพลัดจับผลูมาทำค้าปลีก ผ่านมาถึงวันนี้ เดอะมอลล์ขยับมุมมองใหม่ในการทำธุรกิจว่า ค่าใช้จ่ายจากท่องเที่ยวมีป้ายราคาแพงกว่าช้อปปิ้ง
คู่เอกสองค่ายนี้ถือเป็น “สองคมธุรกิจค้าปลีก” ที่ต่างก็มีเส้นเรื่องให้ชวนติดตาม แบบพลาดไม่ได้เลยจริงๆ