การเมืองยืดเยื้อ ทำเศรษฐกิจสะดุด

>>

แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่ความยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในช่วงกลางปีนี้ จะทำให้การดำเนินงานโครงการต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้

แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ รวมถึงความต่อเนื่องในการดำเนินมาตรการ นโยบาย และโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตต่อไปได้

วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่ชัดเจน อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นจากต่างประเทศและตลาดหลักทรัพย์บ้างแต่ไม่มาก เพราะไทยยังมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศอยู่ไม่ใช่เป็นรัฐบาลรักษาการ

อีกทั้งในเรื่องการจัดการทำงบประมาณประจำปี 2563 ก็ผ่านการรับหลักการจาก ครม.แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนพิจารณาในรัฐสภาจึงน่าจะออกมาได้ แต่หากพิจารณาออกมาไม่ทัน ตามกฎหมายก็สามารถนำกรอบงบประมาณปีก่อนหน้าเบิกจ่ายออกมาใช้ก่อนได้

ทั้งนี้ แม้แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้จะโตถึง 4% หรือไม่ สศค.ขอประเมินอีกระยะ โดยเฉพาะผลกระทบในภาคการส่งออก หลังจากช่วง 2 เดือนก่อนหน้ามีการชะลอตัว ซึ่ง สศค.จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจทางการอีกครั้งช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ก็ได้มอบหมายให้ สศค.ทำการประเมิน และจัดเตรียมแผนรองรับเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้าเช่นกัน

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงชะลอตัวแต่ยังไม่ถดถอย โดยจะต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงในประเทศ โดยเฉพาะการเมืองหลังเลือกตั้ง แม้จะทราบผลการเลือกตั้งและมีการจับมือจัดตั้งรัฐบาล แต่มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลทางการเมืองได้ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจะมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายต่างๆ มากขึ้น และสามารถดำเนินงานได้ปกติเพราะไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ

ส่วนความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 นั้นมองว่าไม่ค่อยกังวล เนื่องจากโครงการต่างๆ ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ และในส่วนของโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้

"สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะออกมาเช่นไร จะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ทางด้านของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องดำเนินงานเช่นเดิม" เมธี กล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2562  เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา จากปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ปัญหาเบร็กซิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินให้มีความผันผวนเป็นระยะ รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก จาก 3.7% มาอยู่ที่ 3.5% ในปีนี้

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 3.8% น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวอยู่ที่ 4.1% แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่เศรษฐกิจไทยยังมีภูมิคุ้มกันเพียงพอรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องติดตามและประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น สร้างมาตรการวินัยทางการเงินที่ดี โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงรักษาการดำเนินนโยบายตามพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีศักยภาพ

ด้าน ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมีความไม่แน่นอนสูง แต่เชื่อว่าสุดท้ายจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แต่จากการพิจารณาและใช้งบประมาณของปี 2562 เรียบร้อยแล้วจนถึงเดือน ต.ค.นี้ ส่งผลให้รัฐบาลชุดใหม่ยังไม่สามารถดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก โดยจะต้องรอการจัดตั้งงบประมาณในปี 2563 ว่าจะมีการโยกย้ายรายละเอียดการใช้งบประมาณในลักษณะไหน พร้อมคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นแต่ไม่มาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของกรอบวินัยทางการเงินการคลังกำกับไว้ ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ที่มีการอนุมัติไปแล้วมองว่ายังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนโครงการอื่นๆ จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ในการดำเนินการต่อไป