นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการเบิกจ่าย งบประมาณภาครัฐ และหากนักลงทุนไม่ เห็นความชัดเจนของโฉมหน้ารัฐบาลใหม่และความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ก็อาจตัดสินใจลงทุนล่าช้าออกไป ทำให้เป็นค่าเสียโอกาสของประเทศ ซึ่งศูนย์วิจัยฯ มีโอกาสปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 จากเดิมประเมินไว้ที่ 4%
นอกเหนือจากปัจจัยการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศจากการ ส่งออก แต่ยังประมาณการส่งออกอยู่ที่ 4.5% ซึ่งต้องติดตามผลกระทบจากการค้าโลกชะลอตัวเพราะสงครามการค้า สะท้อนได้อย่างหนึ่งจากส่วนแบ่งเงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศลดลงจาก 2.15% เป็น 1.85%
"ตอนนี้มองดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเติบโต 5% หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปมากเท่าไร จะยิ่งกระทบทำให้การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำกว่าประมาณการได้ และกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่" นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ด้านค่าเงินบาท สิ้นปียังคงประมาณการ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วในปีนี้ แต่ยังต้องตามสถานการณ์เบร็กซิตและสหภาพยุโรปที่น่าเป็นห่วงกว่า ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าและกดเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าที่คาด โดยเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างน้อยไปจนถึงเดือน พ.ค. จากการส่งเงินปันผลออกนอกประเทศ โดยคาดว่าจะมีเงินไหลออกมูลค่า 8.7 หมื่นล้านบาท
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ดังเดิม เพราะธนาคารกลางทั่วโลกยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการถดถอยของเศรษฐกิจโลกและเบรกการขึ้นดอกเบี้ย
นายสยาม ประสิทธิกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลไม่น่าจะมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น ซึ่งผู้ลงทุนและ ผู้ประกอบการสามารถผ่านพ้นมาได้