คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : ‘บิ๊กซี’ ในอุ้งมือบิ๊กๆ ของ ‘บีเจซี’

>> ธุรกิจจัดจำหน่าย “เบอร์ลี่ยุคเกอร์” หรือบีเจซี หมายตากิจการค้าปลีกมาหลายปีแล้ว

ธุรกิจจัดจำหน่าย “เบอร์ลี่ยุคเกอร์” หรือบีเจซี หมายตากิจการค้าปลีกมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะมาสมใจนึกบางลำพู เอาตอนที่เข้าซื้อ “บิ๊กซี” ต่อจากค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส Casino Guichard-Perrachon ที่ถือหุ้นใหญ่ในไทย

ตอนที่บีเจซี แต่งบิ๊กซีเข้าบ้านทีซีซีกรุ๊ป ของเจ้าสัวใหญ่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ในปี 2559 ค่าสินสอดตอนนั้น 2 แสนล้านบาท

ถือว่าเป็นคุณค่าที่คู่ควร สำหรับดีลบิ๊กๆ อย่างบิ๊กซีจริงๆ

ก่อนที่บีเจซีจะพบรักกับบิ๊กซี บีเจซีเคยไปจีบไฮเปอร์มาร์เก็ต “คาร์ฟูร์” สัญชาติฝรั่งเศสอยู่พักใหญ่ จำได้ว่าตอนนั้นใครๆ ก็พากันมะรุมมะตุ้มหลงรักคาร์ฟูร์ ตอนที่คาร์ฟูร์จะขายทิ้งกิจการในไทย ทั้งเซ็นทรัล, คาสิโนที่มีบิ๊กซีอยู่ในมือแล้ว, ปตท. และก็บีเจซี

สุดท้ายคนบ้านเดียวกัน อย่างคาร์ฟูร์และคาสิโน ก็เลือกที่จะอยู่ด้วยกัน แล้วคาสิโนก็แปลงร่างคาร์ฟูร์ให้เป็นบิ๊กซี ในปี 2554 ผ่านไปเพียง 5 ปี คาสิโนกลับสลัดบิ๊กซีทิ้งเอาดื้อๆ แล้วค้าปลีกบิ๊กๆ รายนี้ ก็มาอยู่ในอ้อมใจบีเจซี ในที่สุด

อืม... คู่กันแล้ว ไม่แคล้วกันจริงๆ เหมือนบีเจซีได้แต่งกับค้าปลีกสองคนในร่างเดียวกัน

บิ๊กซีเป็นห้างจำหน่ายสินค้าราคาถูก (discount store) ที่เกิดในไทยปีเดียวกับ “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ของซีพีในยุคแรกๆ ก่อนที่โลตัสจะย้ายค่ายเบอร์เดิมมาเป็น “เทสโก้ โลตัส” ทุกวันนี้

ทั้งบิ๊กซีและโลตัส (ในยุคของซีพี) ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

สมัยนั้นเซ็นทรัลเจ้าของบิ๊กซี ต้องเอาหุ้นใหญ่มาเร่ขายให้ “คาสิโน” ขณะที่โลตัสที่ซีพีให้กำเนิด ก็ต้องตัดใจยกให้ “เทสโก้” ค้าปลีกสัญชาติอังกฤษ

ผ่านมา 20 ปีแล้ว บิ๊กซีที่พ้นอกเซ็นทรัล ก็ไปแล้วไปลับ แม้แต่ห้างบิ๊กซี ประเทศเวียดนาม 34 แห่ง ที่เซ็นทรัลยังได้สิทธิ์ถือครอง สุดท้ายแล้วเซ็นทรัลก็กำลังทยอยเปลี่ยนป้ายจากบิ๊กซีไปเป็น “GO” เพราะชีวิตต้องเดินหน้าต่อ go go… go

แต่สำหรับโลตัส เรื่องราวกลับต่างออกไป เพราะทุกวันนี้โลตัสที่รวมร่างกับเทสโก้ยังคงอยู่ดีมีสุข แม้เจ้าสัวซีพีจะคิดถึงโลตัสแทบใจจะขาด จนส่งสัญญาณ 4G ชัดทุกพื้นที่ว่า “พร้อมเซ้งคืนทุกเมื่อ” ทว่าเทสโก้ หานำพาไม่

จะว่าไปแล้วการที่บิ๊กซีมาอยู่ในมือของบีเจซี นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะก่อนที่จะเปลี่ยนมือ ห้างบิ๊กซีในไทยตกต่ำเอามากๆ สินค้าไม่ได้คุณภาพ บรรยากาศในห้างก็ทึมๆ อึนๆ ช่วงนั้นคนก็เลยแห่ไปเทสโก้ โลตัส เพราะถูกจริงอะไรจริง และบรรยากาศชวนให้เสียเงินมากกว่า

ทุกวันนี้เวลานึกถึงของถูก ชื่อเทสโก้ โลตัส ก็ลอยมาเลย ทั้งที่ในความเป็นจริง สินค้าหลายรายการ ถ้าเทียบกับ "กูร์เม่ต์ มาร์เก็ต" ของเดอะมอลล์ โดยเฉพาะโปรโมชั่น 1 แถม 1 สินค้าของเดอะมอลล์ราคาถูกกว่ามากในยี่ห้อเดียวกัน ทำให้ความเชื่อที่ว่าห้างราคาถูกต้องขายของถูก อาจไม่จริงเสมอไป เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีกกลายพันธุ์

บิ๊กซีในมือบีเจซีคือส่วนต่อขยายธุรกิจในเครือ ให้พร้อมทะยานไปข้างหน้า ที่ผ่านมาของบีเจซีในฐานะซัพพลายเออร์ ไม่มีโอกาสได้หายใจโล่งมากนัก เพราะอำนาจเต็มอยู่ในมือห้างค้าปลีก เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือ ทำตัวเป็นห้างเสียเอง จะได้ทะลุทะลวงตลาดทั้งอาเซียนจบในกระดานเดียวกัน

 

หน้าที่ของบิ๊กซีต้องทำอะไรบ้าง

เพื่อให้ฝันของบีเจซี ไปถึงไหนต่อไหน

 

อันดับแรกคือ ปักหลักอยู่บนยุทธศาสตร์ทำเลทองทุกทิศทั่วไทย และทุกพื้นที่รอยต่อกับตลาด CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม)

อันดับ 2 คือ ทำตัวเองให้เป็นสวรรค์ของนักช้อปปิ้ง ที่ต้องขนของฝากกลับบ้าน ถ้าคนไทยคลั่งไคล้ห้างดองกี้ในญี่ปุ่นมากเท่าใด การมาช้อปปิ้งบิ๊กซี ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ควรจะช้อปราวกับขาดสติฉันนั้น เพราะบิ๊กซีของถูกจริงๆ เจ้าของโรงงานอย่างบีเจซีมาเองนี่ ไม่ให้ถูกได้ไง

สินค้าขายดีอันดับต้นๆ ของห้างบิ๊กซี สาขาราชดำริ ที่นักท่องเที่ยวทั้งจีนและอินเดีย ขนกันราวกับกองทัพมดก็คือ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ปลาเส้นเบนโตะ ขนมป๊อกกี้รสลาบ รสต้มยำกุ้ง ข้าวเกรียบมโนราห์ ขนมปังโคอาล่ามาร์ช ชาตรามือ ยาบรรเทาปวดเคาน์เตอร์เพน แผ่นปิดตราเสือ เซียงเพียวอิ๊ว ยาดมโป๊ยเซียน พาราเซตามอล สเนลไวท์ ศรีจันทร์ มิสทิน ฯลฯ ถ้าใครไปสาขานี้บ่อยๆ อาจจะนึกว่า นักท่องเที่ยวไปขนมาจากศูนย์ค้าส่ง เพราะมันเยอะจริงๆ

 

                                            บิ๊กซี สาขาราชดำริ 

 

อันดับ 3 คือ เป็นห้างลดราคาสายพันธุ์ไทยที่ไปโตนอกบ้าน ใหญ่ให้สมกับความบิ๊ก ตามนิยามของบีเจซีที่ให้ความหมายไว้ว่า “บิ๊ก” คือพื้นที่ใหญ่โต สินค้าหลากหลาย และ “ซี” คือ consumer ลูกค้าอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะกับกลุ่มประชากรกว่า 600 ล้านคนในอาเซียน ใหญ่เป็น 10 เท่าของไทย ได้กระหน่ำช้อปปิ้งให้สาสมใจกันไปเลย

อันดับ 4 คือ เป็นแหล่งกระจายสินค้าชั้นดีของเครือทีซีซี ขนกันมาเป็นกองทัพ ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนฉากพร้อมรบตอนจบของ Game of Thrones season 7

อันดับ 5 คือ เป็นค้าปลีกพี่ใหญ่ของบีเจซี ที่รอเวลาให้ค้าปลีกเล็กๆ ในเครือ ที่บีเจซีไปกรุยทางไว้ในหลายประเทศอาเซียน ได้มาปลั๊กอินเพื่อรวมพลัง

โดยบีเจซีกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การค้า เรียกว่า "Market Infrastructure" หรือการสร้างสาธารณูปโภคทางการตลาด เพื่อเชื่อมโยงระบบเครือข่ายการค้าของทีซีซีกรุ๊ป ในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน สร้างเป็นโครงข่ายที่ครบและจบในภาพเดียว

เพื่อให้ big picture ของทีซีซีกรุ๊ป สวยงามตามท้องเรื่อง และกลายเป็นผู้เล่นที่ทรงพลังในระดับภูมิภาค