กบร. เคาะต่อใบอนุญาตการบิน "บางกอกแอร์เวย์-ไทยไลอ้อนแอร์" 10 ปี

>>

กบร.เคาะไฟเขียวต่อใบอนุญาตการบิน บางกอกแอร์เวย์-ไทยไลอ้อนแอร์ 10 ปี - คมนาคมเผยค่าธรรมเนียมออกบัตรสายการบินทะลุ 600 บาท

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน( กบร.) ว่าที่ประชุมกบร.ได้มีมติเห็นชอบการให้มีการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) ให้กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ไปอีกระยะเวลา 10 ปี ที่ AOL หมดอายุตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา

รวมถึงการออกใบอนุญาตประเภทพาณิชย์อื่นสำหรับบินชมทิวทัศน์ด้วยเฮลิคอร์ปเตอร์ของบริษัท โซแลร์ เฮลิลัคก์ เอวิเอชั่น เซอร์วิส จำกัด ที่เป็นการข้ออนุญาตเพิ่มเติมเนื่องจากก่อนหน้านี้ทำเกี่ยวกับการถ่ายภาพบนเฮลิคอร์ปเตอร์

ขณะที่ด้านสายการบินใหม่ๆปัจจุบันก็มีการขออนุญาตเข้ามาแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตอาทิ สายการบินไทยซัมเมอร์ โดยเป็นสายการบินเช่าเหมาลำที่ร่วมทุนระหว่างไทยกับจีน ในส่วนของความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินเบตงนั้น ก็ได้มีการเตรียมการออกใบอนุญาตจัดตั้งให้กับสนามบินเบตง

ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 70% แล้ว โดยหากแล้วเสร็จต่อไปจะเป็นในส่วนของทางด้านบริษัท วิทยุการบิน(บวท.) และกรมอุตุนิยมวิทยาที่จะต้องไปดำเนินการต่อเรื่องการติดตั้งเกี่ยวกับระบบช่วยเดินอากาศ และตามกระบวนการคาดว่าภายในปีนี้จะดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบแล้วเสร็จ รวมถึงจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563 ตามแผน

จากกรณีที่เอกชนมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมออกบัตรโดยสารเครื่องบินนายจุฬากล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือพร้อมเรียกให้ชี้แจงเรื่องกรณีเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมออกบัตรโดยสารในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้รับรายงานมาว่ามีการขยับค่าโดยสารเพิ่มในส่วนของค่าธรรมเนียมการออกตั๋วตามที่แต่ละสายการบินเสนอมา ซึ่งบางสายได้รับอนุมัติและมีผลใช้ใปแล้วด้วย บางรายก็ได้รับอนุญาตมานานแล้ว

สำหรับค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะมีการพิจารณาจากต้นทุนของสายการบินเช่น ค่าเช่าออฟฟิศ ค่าจ้างคน ค่าตั้งบูธ เป็นต้น ดังนั้นหากผู้โดยสารไม่ได้ซื้อตั๋วผ่านระบบออนไลน์หรือบนเว็บไซต์ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพิ่มเติม แต่ละสายการบินจะเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีเพดานราคาไม่เท่ากันเพราะขึ้นอยู่กับต้นทุนการดำเนินการเนื่องจากในส่วนนี้เป็นต้นทุนบริหารจัดการจำหน่ายบัตรโดยสาร

สำหรับค่าธรรมเนียมออกบัตรโดยสารนั้นกรณีแพงสุดคือในเส้นทางการบินระหว่างประเทศของสายการบินไทย 600 บาทแต่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมออกบัตรทางหากซื้อผ่านทางเว็บไซต์ ,สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซื้อผ่านทางเว็บไซต์เก็บค่าธรรมเนียมออกบัตร 30 บาท ,สายการบินไทยเวียตเจ็ทไม่เก็บค่าธรรมเนียมออกบัตรแต่เก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ 150 บาท ,สายการบินไลอ้อนแอร์เก็บค่าธรรมเนียมออกบัตร 107 บาท ,สายการบินไทยแอร์เอเชียไม่เก็บค่าธรรมเนียมออกบัตรหากซื้อผ่านทางเว็บไซต์แต่ค่าธรรมเนียมอื่นๆเก็บ 250 บาท เป็นต้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวเป็นการผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่ นายจุฬากล่าวว่าไม่น่าจะใช่เพราะค่าธรรมเนียมของแต่ละสายการบินไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้โดยสารจึงสามารถเปรียบเทียบราคาได้ก่อนตัดสินใจซื้อ