นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทราบความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2561 ทั้ง 6 ด้านว่าอยู่ในสถานะที่มีความแข็งแกร่ง ประกอบไปด้วย
1.สถานะทางการคลังของรัฐบาลปี 2561 มีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 2.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณมีทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท หรือ 92% ของงบประมาณโดยรวมที่ต้องเบิกจ่าย มีการขาดดุลงบประมาณ 4.82 แสนล้านบาท
มีเงินคงคลังปลายปีทั้งสิ้น 6.33 แสนล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะ 42%ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60%
2.กองทุนนอกงบประมาณ รัฐบาลจัดสรรไปทั้งสิ้น 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบและเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนประกันสังคมจำนวน 9.59 หมื่นล้านบาท
แต่โครงสร้างเงินทุนของกองทุนนอกงบประมาณมีสัดส่วนหนี้สินในระดับต่ำทำให้ความเสี่ยงด้านการผิดชำระหนี้ของกองทุนนอกงบประมาณในภาพรวมสามารถบริหารจัดการได้จึงยังไม่มีความเสี่ยงทางการคลังที่เป็นภาระผูกพันจากกองทุนนอกงบประมาณที่มีนัยสำคัญ
3.ภาครัฐวิสาหกิจ พบว่าความเสี่ยงทางการคลังของรัฐวิสาหกิจยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องยกเว้นในสาขาสื่อสารและอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม
โดยรัฐวิสาหกิจสามารถจ่ายเงินสุทธิให้รัฐบาลได้อย่างต่อเนื่องโดยในปี 2561 มีเงินจ่ายสุทธิให้กับรัฐบาลทั้งสิ้น 1.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ที่ 6.2%
อย่างไรก็ดีรัฐบาลยังคงมีภาระทางการคลังจากการรับภาระหนี้แทนรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องซึ่งเป็นภาระทางการคลังแบบชัดเจนโดยตรงทั้งสิ้น 2.18 แสนล้านบาท
ดังนั้นเพื่อลดภาระทางการคลัง รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในแผนการฟื้นฟูองค์กรเช่น
- การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ควรเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดรวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง
4.ภาคสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยรัฐบาลไม่มีภาระเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งนี้ปี 2562 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาผลดำเนินงานขาดทุนจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทซึ่งไม่เป็นภาระโดยตรงกับงบประมาณ
5.ภาคองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปี 2561 ที่ผ่านมา อปท. มีรายได้อุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 2.53 แสนล้านบาท และรายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ 1.3 แสนล้านบาท ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ที่ อปท. จัดเก็บได้เองที่เพียง 10.8% ของรายได้รวม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อปท. ยังคงพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากรัฐบาล ดังนั้นจึงควรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เองให้มากขึ้น
6.ภาคสถาบันการเงินยังคงมีความแข็งแกร่งและมีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นภาระต่องบประมาณโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินยังคงสามารถชำระหนี้ของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่งทำให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังไม่มีความเสี่ยงจะต้องเข้าไปรับภาระการจ่ายชดเชยให้แก่ผู้ฝากเงิน
ขณะที่ธุรกิจประกันภัยยังมีความเพียงพอของเงินกองทุนในระดับสูงจึงยังไม่มีเหตุการณ์ที่จะมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดความเสียหายการคลังของรัฐบาลที่มาจากภาคการเงินอย่างมีนัยสำคัญ