เราเข้า 7-eleven หรือเซเว่นฯ กันทุกวัน หรือบางคนอาจจะเข้าวันละหลายครั้งด้วยซ้ำ ทั้งระหว่างพักกลางวันที่เรียน ที่ทำงาน และหลังจากเลิกงานไปแล้ว ทำให้มีคนเข้าเซเว่นฯ เฉลี่ย 12 ล้านคนต่อวันเลยทีเดียว!
ใช่! ฟังไม่ผิด ยอดคนเข้าเซเว่นฯ แต่ละวันเยอะมาก โดยโครงสร้างรายได้ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-eleven ในปี 2561 อยู่ที่ 335,532 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59% ของรายได้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 278,246 ล้านบาท ในปี 2559 และ 302,584 ล้านบาท ในปี 2560
7-eleven …ไข่แดงของซีพี ออลล์
เพราะฉะนั้นด้วยรายได้อันมหาศาลนี้เอง ทำให้เซเว่นฯ เป็นไข่แดงของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL หนึ่งในธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์
ยิ่งเมื่อเทียบรายได้จากเซเว่นฯ กับธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสด และบริการตนเอง (แม็คโคร) และธุรกิจอื่นๆ ที่มีสัดส่วนธุรกิจ 34% และ 7% ตามลำดับ ตามไม่ทันรายได้ก้อนเดียวจากเซเว่นฯ ที่กินสัดส่วนเกินครึ่ง หรือที่ 59%
อย่างเมื่อเราเดินเข้าไปเซเว่นฯ แม้จะมีสินค้าขายเยอะมาก แถมแต่ละสาขาอาจจะมีของวางขายไม่เหมือนกันอีก แต่จริงๆ แล้ว “สินค้าหลัก” ของเซเว่นฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- อาหารและเครื่องดื่ม 70% เช่น อาหารพร้อมทาน ขนมปัง ขนมหวาน ผลไม้ รวมไปถึงกาแฟและเครื่องดื่ม All Café เป็นต้น
- สินค้าอุปโภค (ไม่รวมบัตรโทรศัพท์) 30% โดยสินค้าหลักๆ ได้แก่ ของใช้ส่วนตัว และของใช้ในบ้าน
จากเซเว่นฯ ยุคแรกๆ ที่เราใช้บริการตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ “เครื่องดื่มเย็นโถกด” เป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ของเซเว่นฯ ไม่ว่าจะเป็นชาเย็น โอวัลตินเย็น กาแฟเย็น ชามะนาว โอเลี้ยง อัญชันน้ำผึ้งมะนาว หรือช็อคโกแลต Hershey’s Freeze ก็ตาม
แล้วรู้หรือไม่ว่า…ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเครื่องดื่มเย็นโถกดของเซเว่นฯ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับ CPALL ด้วย บริษัทนั้นก็คือ…..บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มในโถกด หรือ Dispenser Drink ให้กับเซเว่นฯ
แม้ว่าชื่อไม่คุ้นหู แต่ธุรกิจน่าสนใจ!
โดยเครื่องดื่มเย็นโถกด เป็นเครื่องดื่มที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท หลังที่ TACC และ CPALL ร่วมวิจัยและพัฒนาสินค้ามาด้วยกัน ภายใต้การบริหารงานซีพี ออลล์ มาเป็นเวลานานกว่า 16 ปี นอกจากนี้มีเครื่องกดเครื่องดื่มร้อนแบบอัตโนมัติ และเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงพร้อมชง เพื่อขายให้ร้าน All Cafè ด้วย ทั้งเครื่องดื่มตามซีซั่น เช่น พวกน้ำปั่น หรือชีสโฟมเองก็ดี
ซึ่งกลุ่มเครื่องดื่มโถกดนี้ TACC จัดให้อยู่ในประเภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทร่วมพัฒนากับพันธมิตรทางธุรกิจ (B2B) และธุรกิจประเภทที่ 2 คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ (B2C)
- ชาเขียวพร้อมดื่ม ตราเชนย่า
- เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ตรา อรุณ และตราสวัสดี
- เครื่องดื่มช็อกโกแลต ตราเฮอร์ชี่
และอีกหนึ่งธุรกิจดาวรุ่งของ TACC อีกตัวคือ “ธุรกิจคาแรคเตอร์” โดยบริษัทได้ลิขสิทธิ San-X เช่น รีลัคคุมะ มาเมะโกมะ ประเทศญี่ปุ่น ครอบคลุม 7 ประเทศในอาเซียน ทั้งไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม
โดยบริษัทจับมือกับเซเว่นฯ ทำ “ของพรีเมี่ยม” โดยผู้บริโภคสามารถแลกซื้อสินค้าได้ คุ้นๆ ใช่ไหม นักสะสมของทั้งหลาย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นงานการ์ตูนลิขสิทธิ์ของ San-X ทั้งหมด ก็มาจาก TACC นี่เอง นอกจากนี้บริษัทยังจับมือกับศูนย์การค้า “บิ๊กซี” ทำโปรโมชั่นแลกซื้อแก้วน้ำด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่า CPALL จะเป็นหุ้นท็อปตลอดกาลในกลุ่มค้าปลีก และเป็นหุ้นขนาดใหญ่ (บิ๊กแค็ป) ที่อยู่ในกลุ่ม SET50 จากการดำเนินงานโดยเฉพาะการขยายสาขาเซเว่นฯ ให้ได้ถึง 13,000 สาขาในปี 2564 จากปี 2561 ที่ผ่านมา ที่มีสาขารวม 10,988 สาขา ซึ่งทำให้ CPALL โตแบบฉุดไม่อยู่ ส่งผลให้ผลประกอบการ TACC ขยายตัวดีด้วยนั้น
เมื่อจุดแข็งเป็นความเสี่ยง
แต่การที่บริษัทมีรายได้หลักจาก CPALL ถึง 96% ของรายได้จากการขายรวม ถือว่าเสี่ยงมาก! จากการผูกขาดการขายสินค้าให้กับเซเว่นฯ หากสัญญามีปัญหาก็อาจจะมีผลกระทบ ซึ่งในตลาดก็มีกรณีศึกษาให้เห็นกันหลายเจ้าแล้ว!
ทาง TACC จึงปรับสัดส่วนธุรกิจใหม่เสียเลย โดยตั้งเป้ารายได้จากการขาย B2B ลดลงเหลือ 70% ในปี 2563 และเพิ่ม B2C มากขึ้นเป็น 30%
เพิ่มจากไหน ยังไง? ก็มาจากธุรกิจคาแร็คเตอร์ และพันธมิตรรายใหม่ ทั้งเครื่องดื่ม Hershey’s และร้าน A&W ตลอดจนการบุกตลาดเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยบริษัทจะปักธงชาเขียวพร้อมดื่มในกัมพูชาผ่านแบรนด์เซนย่า
ธุรกิจมีแนวโน้มสดใส แล้วราคาหุ้นสดใสหรือไม่?
จากกราฟจะเห็นว่า ผลตอบแทนของราคาหุ้นย้อนหลัง TACC ยังนำตลาด โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) อยู่ที่ 57.94% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ที่ 36.34% ส่วนอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น (พี/อี) ยังมากไปหน่อย 35.38 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งจะดูว่าหุ้นไหนน่าลงทุน พี/อีต่ำ ก็จะปลอดภัยมากกว่า ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ดีอี) ถือว่าบริษัททำได้ดี อยู่ที่ 0.46 เท่า
อย่างไรก็ตามแม้ว่าพี/อี จะสูงไปนิดดดด… แต่ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2562 จะขยายตัว 3.5-3.8% หรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท บวกกับเซเว่นฯ ยังคงรักษาแชมป์เจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ เมื่อเทียบส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ที่นำโดด
ดังนั้น TACC ก็น่าสนใจ จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ แต่จะลงทุนช่วงไหน นักลงทุนต้องดูจังหวะการลงทุนให้ดี
ที่มา แบบ 56-1 ของ CPALL ,รายงานประจำปี 2561 TACC และข้อมูลสรุปกราฟของบริษัทจดทะเบียนใน SET