ดีลล่าสุดที่สร้างความฮือฮาในตลาดทุน เมื่อบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ทุ่มเงินประมาณ 4,600 ล้านบาท ปิดดีลเข้าซื้อหุ้นบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB ในสัดส่วน 18.59% ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นเบอร์ 2 ทันที เป็นรองผู้ถือหุ้นเบอร์ 1 คือ “ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์” สัดส่วน 28.45%
แน่นอนว่า หากเปรียบเทียบลักษณะการทำธุรกิจของทั้ง VGI กับ PLANB เล่นอยู่ในตลาดสื่อโฆษณาที่เป็นคู่แข่งกันโดยตรง VGI ซึ่งรายได้น่าจะมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี เป็นผู้เล่นอันดับ 1 กับ PLANB ที่มีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ผู้เล่นอันดับ 2 ในตลาดสื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home Media:OHM)
แต่เมื่อรวมกับการที่ VGI เข้าถือหุ้นรวมกับบริษัทแม่คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นเบอร์หนึ่ง ในบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO สัดส่วน 49.74% ที่มีรายได้อีก 1,745 ล้านบาทต่อปี ยิ่งเป็นตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาด OHM ของ VGI
ดังนั้นเมื่อรวมรายได้ของทั้ง VGI, MACO และ PLANB จะมีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าใกล้เคียงกับสื่อทีวีดิจิทัลเจ้าใหญ่เรทติ้งดีอย่างบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC
ความเหมือนที่แตกต่าง!
แต่สิ่งที่ต่างกันสิ้นเชิงคือ ทั้ง VGI, MACO และ PLANB มีกำไรสุทธิรวมกันในปี 2561 รวมกันมากถึง 1,765 ล้านบาท เฉพาะ PLANB เจ้าเดียวมีอัตราการเติบโตกำไรเฉลี่ย (CAGR) ช่วงปี 2559-2561 โตเฉลี่ยถึง 35% ต่อปี
ขณะที่ VGI มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นดีตลอดในช่วง 2-3 ปี งบปี 60 (สุดสิ้น มี.ค.60) มีกำไรสุทธิ 826.42 ล้านบาท งบปี 61 (สุดสิ้น มี.ค.61) มีกำไรสุทธิ 846.23 ล้านบาท ส่วนช่วง 3 ไตรมาสแรกของงบปี 62(สิ้นสุด ธ.ค.61) มีกำไรสุทธิถึง 830.89 ล้านบาท
ส่วน MACO เองทำได้ไม่แพ้บริษัทแม่ กำไรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตมาโดยตลอดปี 59 มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท ปี 60 มีกำไรสุทธิ 220.86 ล้านบาท และปี 61 มีกำไรสุทธิ 272.62 ล้านบาท
แต่ BEC กลับพลิกขาดทุนในปี 2561 ที่ 330 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปี 58-60 มีกำไรสุทธิเป็นขาลงมาโดยตลอด ปี 58 อยู่ที่ 2,982.71 ล้านบาท ปี 59 อยู่ที่ 1,218.29 ล้านบาท ปี 61 อยู่ที่ 61.01 ล้านบาท จากผลตลาดทีวีดิจิทัลที่กำลังอยู่ในช่วงกำลังเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรง แต่ผู้เล่นในตลาดสื่อ OHM กลับได้รับเม็ดเงินโฆษณาไหลมาเทมา ด้วยอานิสงส์ของเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเพิ่มขึ้น ทำการอัดงบโฆษณาใส่กับสื่อ OHM ทำได้ตรงเป้าหมายมากกว่าทั้งสื่อแบบออนไลน์และออฟไลน์
แน่นอนว่าความร่วมมือที่แนบชิดมากขึ้นระหว่าง VGI, MACO กับ PLANB ซึ่งพร้อมจะจับมือกันโตแบบไม่หยุด ส่วนผลลัพธ์อย่างแรกที่ต้องเกิดขึ้นคือ การ "พลิกเกมส์เปลี่ยนอำนาจต่อรอง" เปลี่ยนมาอยู่ในมือเจ้าตลาดสื่อ OHM ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นเจ้าใหญ่สุดในตลาดสื่อ OHM ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากขึ้นต่อการตัดสินใจซื้อของประชาชนสะท้อนจากเม็ดเงินโฆษณาที่เอเจนซี่ต่างๆ เทงบมาที่ OHM มาอยู่ที่รายได้ของ VGI, MACO, PLANB เพราะมี Eyeball ที่มีมากกว่าอย่างชัดเจนสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันที่ใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน และยังใช้เวลาอยู่โทรศัพท์มือถือ กับ แท็บเล็ต มากกว่าอยู่หน้าจอทีวี
เปลี่ยนจากเดิมในอดีตที่ผ่านมาเอเจนซี่โฆษณาเจ้าต่างๆ มักจะนำราคาที่ได้จากอีกรายไปต่อรองกับสื่ออีกรายเพื่อขอลดราคา แต่หลังจากดีลนี้ที่ปิดไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าของพื้นที่สื่อ OHM จะเป็นผู้คุมเกมส์ความได้เปรียบ
ทำให้เหล่าเอเจนซี่ ต้องเข้าคุยกับเจ้าของพื้นที่ซึ่งกระชับความสัมพันธ์เปรียบเสมือนเป็นรายเดียวกันที่ครองพื้นที่ทั้งในบริเวณสถานีและขบวนรถไฟฟ้า, สนามบิน, ทางด่วน, รถสาธารณะ ขสมก., ศูนย์การค้า, อาคารสำนักงานยอดนิยม, ในร้านจิฟฟี่ ของ ปตท. ป้ายบิลบอร์ดตามจุดสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ทั้ง 3 เจ้าไปยึดหัวหาดสัมปทาน Eyeball ทำเลทองไว้เกือบหมดแล้ว
เพื่อทำความร่วมมือจัดสรรในการขายสื่อในกลุ่ม ยังไม่นับรวมโอกาสที่ BTS ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปบริหารหรือร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ อีกหลายโครงการซึ่งแน่นอนว่าสิทธิ์ในการบริหารดูแลสื่อที่ต้องพ่วงติดมาด้วยคงหนีไม่พ้นที่ VGI ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญที่ต้องเข้าไปรันธุรกิจ OHM ให้เกิดความต่อเนื่อง
Synergy ของเจ้าตลาด OHM
คงจะได้เห็น Synergy ของเจ้าตลาด OHM ที่จะมาร่วมกันแชร์ต้นทุนการทำธุรกิจหรือต้นทุนทางการเงิน, บุคลลากร เสริมศักยภาพซึ่งกันและกันทำให้การบริหารต้นทุนโดยรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมถึงร่วมกันขยายตลาดสื่อ OHM ในภูมิภาคอาเซียนอย่างในมาเลเซียที่เริ่มขยับเข้าไปแล้ว
อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ หลัง VGI เข้าไปถือหุ้นใน PLANB 18.59% แล้วจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกระชับความสัมพันธ์ เช่นเดียวกับ เมื่อปี 2557-2559 ได้เริ่มทยอยซื้อหุ้น MACO ถือเป็นคู่แข่งรุ่นพี่รายใหญ่ใน SET ในตอนนั้น จนปัจจุบัน VGI กับแม่คือ BTS ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นเบอร์หนึ่งใน MACO สัดส่วน 49.74% MACO ครองพื้นที่ OHF ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายจุดทั้งในไทย และอาเซียนในมาเลเซีย
หากสังเกตุกลยุทธ์สำคัญธุรกิจหนึ่งของ VGI ที่ใช้สร้างการเติบโตใน ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)ในปี 2555 คือการเปลี่ยนคู่แข่งทางธุรกิจให้กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อ งและต่อยอดกับธุรกิจปัจจุบัน ซึ่งในหลายดีลไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จะเข้าไปเพื่อรับรู้ส่วนแบ่งเงินปันผลอย่างเช่น กรณี การถือหุ้น PLANB ซึ่งถือไม่ถึงสัดส่วน 20% หรืออย่างการเข้าไปถือหุ้น Kerry Express สัดส่วน 23% ซึ่งมีโอกาสที่จะบันทึกกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นซึ่งอยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตสูง