KS-Jefferies มั่นใจสภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ถดถอย

>>

Hightlight

  • บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ Jefferies วาณิชธนกิจและผู้ให้บริการเซอร์วิสด้านการเงินจากสหรัฐ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว แต่ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจจะถดถอยในอีก 1 ปีข้างหน้า ยังไม่สูงมาก
  • เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% และจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหากเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง 
  • และคงมุมมองเศรษฐกิจไทย ยังคงมีการเติบโตในระดับปานกลางที่ 3.8% และ 4.0% ในปี 2562-2563  
 
 
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มหาชนและ Jefferies เผยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแต่ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจจะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้ายังไม่สูงมาก โดยเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% และจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหากเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง 
 
ส่วนประเด็นข้อพิพาททางการค้าคาดว่าสหรัฐฯและจีนน่าจะบรรลุข้อตกลงได้เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและการเติบโต GDP ทั้งสองประเทศจะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ได้แก่ 6%-6.5% สำหรับประเทศจีนและ 2.0-2.5% สำหรับสหรัฐฯ  อีกทั้งการเติบโตค่าแรงในสหรัฐฯยังอยู่ในระดับสูงที่ 3.4% เทียบค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 3% ซึ่งถือว่าการเติบโตค่าแรงในระดับนี้ยังไม่มีผลที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด 
 
Mr. Sean Darby - Global Head of Equity Strategy จาก Jefferies & Co Inc. ระบุในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี “KS Investment Outlook - Thailand’s Disinflationary Boom Still Playing Out” เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้น ว่าพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน (Search for yield) ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันการลงทุนในตราสารทุนทั่วโลก โดยมองว่าหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในปี 2562 เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านราคาต่ำกว่าหุ้นทุน และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีหากตลาดทุนมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากหุ้นกู้แปลงสภาพในประเทศไทยไม่เป็นที่แพร่หลายนัก มองว่ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ (REIT) มีลักษณะคล้ายกับหุ้นกู้แปลงสภาพ โดยมีความเสี่ยงต่ำ มีความแน่นอนสูงในกระแสเงินสด รวมทั้งยังมีผลตอบแทนแบบหุ้นทุนอีกด้วย 


มุมมองต่อตลาดหลักทรัพย์อาเซียนและตลาดหลักทรัพย์ไทย 

 
สำหรับมุมมองของ Mr. Sean Darby ต่อตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองประเทศอินโดนีเซียมีศักยภาพสูงสุด รองลงมาคือประเทศไทย ส่วนฟิลิปปินส์มีศักยภาพต่ำสุด โดยมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของอินโดนีเซียในปีที่แล้ว ได้ช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบลงอย่างมากและอาจจะมีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกกับตลาดอินโดนีเซีย ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทย จุดเด่นคือความแข็งแกร่งงบการเงินโดยประมาณ 35% ของบริษัทจดทะเบียนที่ไม่มีการกู้ยืมและครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนมีค่าความแข็งแกร่งในเชิงเครดิต (Altman Z-score) ที่ดีมาก สำหรับฟิลิปปินส์นั้น มองว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและการให้สินเชื่อที่ผ่านมามีความร้อนแรงเกินไป ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบันมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  
 
 
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มหาชน ระบุยังคงมุมมองเศรษฐกิจไทยยังคงมีการเติบโตในระดับปานกลางที่ 3.8% และ 4.0% ในปี 2562-63  แม้ว่าเราได้ปรับลดประมาณการการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่จะได้รับการชดเชยจากการบริโภคที่ปรับดีขึ้น ตามทิศทางของรายได้เกษตรกรที่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว 
 
 
ในส่วนทิศทางนโยบายการเงินของไทย เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินกำลังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินเป็นหลัก ตามด้วยการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ และ กนง. จะพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) เมื่อภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4/2562 ทั้งนี้ ด้วยท่าทีที่ต่างกันระหว่าง Fed และ ธปท. จึงเชื่อว่าแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะยังมีอยู่
 
 
นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มหาชน ระบุเป้าหมายดัชนี SET Index ในปีนี้ยังอยู่ที่ 1,750 จุด คาดการณ์กำไรของตลาดหุ้น (Market EPS) อยู่ที่ 12.8% โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราเติบโตของกำไรสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 23.7% กลุ่มสื่อสาร 20.3% และกลุ่มพลังงาน 13.6% โดยในส่วนของกลุ่มสื่อสารมาจากแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงเพื่อสะสมกำไรไว้ลงทุนระบบ 5G ส่วนกลุ่มพลังงานนั้นมาจาก ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากอุปทานน้ำมันที่เริ่มหายไปจากมาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมันของ OPEC ทั้งนี้มองกลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นที่จะได้อานิสงค์จากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หรือมีแนวโน้มการดำเนินงานที่ดี ดังนี้ 
 
  • กลุ่มพาณิชย์/ Commerce (CPALL ราคาเป้าหมาย 82 บาท /BJC ราคาเป้าหมาย 60 บาท) ได้รับปัจจัยบวกจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจากรัฐบาล รวมทั้งโอกาสที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัดหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  
  • กลุ่มปิโตรเคมี/Petrochemicals (SCC ราคาเป้าหมาย 528 บาท) เนื่องจากภาพรวมธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างมีทิศทางที่ดีขึ้น ต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มลดลง และภาพรวมกำไรที่แข็งแกร่งจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีแรงหนุนมาจากกระแส e-commerce ด้วยสถานะผู้ผลิตชั้นนำของ SCC ด้านบรรจุภัณฑ์ในตลาดอาเซียน
  • กลุ่มรับเหมาโยธา/Contractor (STEC ราคาเป้าหมาย 30.10 บาท) โดยคงมุมมองเป็นบวกจาก 1) จำนวนงานในอนาคตที่แข็งแกร่ง 2) backlog ในมือที่อยู่ในระดับสูง และ 3) ราคาเหล็กที่ลดลง
  • กลุ่มโรงไฟฟ้าดั้งเดิม/Conventional Power (BGRIM ราคาเป้าหมาย 34.50 บาท) มีปัจจัยบวกจากต้นทุนพลังงานที่ลดลง (ทั้งก๊าซและถ่านหิน) และค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทและการขยายตัวของกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง